วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการเกิดขึ้นซึ่งตัวตน

ความ ไม่รู้ หรืออวิชชาในหลักปฏิจจสมุปบาท หมายเฉพาะกระบวนการเกิดขึ้นซึ่งความทุกข์ในจิตเท่านั้น คือความไม่รู้เท่าทันต่อสิ่งที่มากระทบจิต


เช่น เห็นโฆษณาโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุดดีสุดทางโทรทัศน์จิตแวบอยากได้ทันที ความอยากได้นี่แหละจิตไม่ปกติแล้ว เป็นทุกข์ในระดับหนึ่งแล้ว นี่เรียกว่าจิตมี "ความไม่รู้" เท่าทันต่อสิ่งที่มากระทบ

อวิชชาจึงเป็นเหตุเบื้องต้นสุดของการเกิดทุกข์

ปฏิจจสมุปบาทนั้นมีสองสาย เกิดทุกข์สายหนึ่งกับดับทุกข์สายหนึ่ง สายเกิดทุกข์เรียกสมุทยวาร สายดับทุกข์เรียกนิโรธ

ดับ ทุกข์ก็เป็นตรงข้ามกับเกิดทุกข์ คือ เปลี่ยนจากอวิชชาเป็นวิชชา เท่านั้น ฟังดูง่ายดีในแง่ตรรกะ คือ เหตุผล แต่มันยากหนักหนาในทางปฏิบัติ

ตัวอย่างแค่รู้เท่าทัน กับไม่รู้เท่าทัน นี่ก็ชั่วแวบเดียวเอง แค่อยากได้มือถือรุ่นใหม่นี่แหละ

ที่เขียนอยู่นี่ก็=ชักกำเริบอยากได้เข้าไปแล้วไหมล่ะ

หาก จิตรู้เท่าทัน ก็จะเกิดกระบวนการของวิชชามากำหนดว่า ควรจะมีไอ้เจ้ามือถือรุ่นใหม่นี้หรือไม่ ด้วยวิธีอย่างไร เป็นต้น มันก็ไม่เป็นทุกข์ เหมือนที่แวบ "อยาก" ได้ไปตามอำนาจของอวิชชา คือ "ความไม่รู้" เท่าทันนั้น

ทีนี้ลองมาดูลำดับขั้นตอนของกระบวนการปฏิจจสมุปบาท หรือการอาศัยกันและกันเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร



อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขาร ในที่นี้แปลว่า ปรุงแต่ง ไม่ได้แปลว่า ร่างกายดังความหมายที่นำมาใช้กันต่อภายหลัง ความหมายเดิมแท้ของสังขารคือ ปรุงแต่ง จะเรียกเป็นการปรุงแต่งหรือความปรุงแต่งก็สุดแท้แต่บริบทที่นำไปใช้

ศัพท์ ภาษานั้นเป็นเครื่องมือให้เข้าใจความหมาย ซึ่งบางทีศัพท์ภาษานั้นเองก็เป็นอุปสรรคทำให้เข้าใจความหมายไม่ตรงกันหรือ ถึงกับไม่เข้าใจกันเลยก็ได้

โดยเฉพาะศัพท์ภาษาในทางธรรมะที่เป็นบาลี สันสกฤต ผู้รู้เข้าใจอย่างหนึ่ง ชาวบ้านเข้าใจอย่างหนึ่งดังเรื่องพระนักเทศน์กับโยมแม่เฒ่าที่ไม่รู้ว่า อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ นั้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงอธิบาย เรื่อง "ภาษาคน-ภาษาธรรม" ไว้เล่มหนึ่งไปหาอ่านกันเถิด นี่ก็เป็นเรื่อง "พึงรู้" ที่สำคัญและจำเป็นก่อนศึกษาธรรมะ

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ความหมายก็คือ "ความไม่รู้ นี่แหละ เป็นเหตุส่วนหนึ่งให้เกิดการ "ปรุงแต่ง"

นี่มุ่งเฉพาะการปรุงแต่งในจิตเท่านั้นนะ

จะว่าไปนี่แหละคือการปรุงขึ้นเป็นตัวตนหรืออัตตานั่นเอง โดยเริ่มปรุงเป็น "ธาตุรู้" ที่เรียกว่า "วิญญาณ"



คํา ว่าวิญญาณนี่ก็อีก ภาษาคนอาจแปลว่า ผีสาง แต่ภาษาธรรม แปลว่า "รู้ยิ่ง" (วิญ, วิ = ยิ่ง - ญาณ = รู้) อันหมายถึง ธาตุรู้หรือเรียก "มโนธาตุ" ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต

วิญญาณ กับ วิชชา นั้นต่างกันตรงที่วิญญาณ หมายถึง ธาตุรู้ วิชชาหมายถึง ความรู้

ธาตุรู้ กับ ความรู้ นี่ต่างกันนะ...ลองคิดดู

สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

นี่คือกระบวนการปรุงจิตขึ้นเป็น "ตน" ซึ่งเป็นตนทางนามธรรม ดังเรียกว่า "อัตตา" ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนทางร่างกายนั่น

ลอง ย้อนทบทวนกันใหม่ ก่อนหน้านั้นมันมี "ความไม่รู้" เป็นเบื้องต้น เช่นว่า จิตเราว่างๆ อยู่ ทันใดนั้น มีอะไรมากระทบ เช่น ตาเห็นภาพหูได้ยินเสียงโฆษณามือถือรุ่นล่าทางโทรทัศน์ ไอ้ความไม่รู้ซึ่งจะเรียกว่า เผลอสตินี่แหละที่ทำให้จิตเริ่มปรุง (สังขาร) หรือไปกระตุ้น ตัวรู้ หรือธาตุรู้ (วิญญาณ) หรือความรู้สึกขึ้นมาทันใด

แล้วทีนี้ไอ้ตัวรู้นี้มันก็ไปกระตุ้นหรือเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ดังขั้นตอนของหลักปฏิจจสมุปบาทที่ว่า

วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

นามรูป ก็คือ จิตกับกาย ซึ่งเป็นดังวัตถุกับจิตตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคมนั่นเอง

หากนามรูปในที่นี้หมายถึง การประกอบพร้อมขึ้นซึ่งความเป็นขันธ์ห้า มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น

ตรงนี้ต้องขยายความเรื่องขันธ์ห้าว่า ความหมายก็คือ กายกับจิต เท่านั้น

รูป คือ กาย อันประกอบด้วย ธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ดำรงเป็นร่างอยู่นี้

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือส่วนทั้งหมดที่เป็นจิต

วิญญาณ นี่แหละเป็นตัวจิต เพราะเป็นตัวรู้หรือธาตุรู้ จึงเรียกมโนธาตุนั้น

ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร สามอย่างนี้เป็นบทบาท หรือกระบวนการของจิต ซึ่งมีบทบาทในสามประการนี้เท่านั้น คือ เวทนา (รู้สึก) สัญญา (นึก) สังขาร (คิด)

การที่จิตไปรับรู้สัมผัสทางประสาทสัมผัสทั้งปวงนี้แหละเรียก ว่า "เวทนา" เป็นความรู้สึกสดๆ เป็นปัจจุบัน หาใช่เวทนาในภาษาคนที่แปลว่า สงสารไม่

การที่จิตจำได้หมายรู้ว่านี่เป็นนี่ นั่นเป็นนั่นจะโดยศัพท์ภาษาหรือนึกได้ด้วย เคยรับรู้มานั้น คือความจำได้หมายรู้ นี่แหละเรียกว่า "สัญญา" นับเป็นอดีต หาใช่สัญญาในภาษาคนที่หมายถึง การกระทำทางนิติกรรมหรือพันธะผูกพันแบบคำมั่นสัญญานั้นไม่

การที่จิต มันสามารถปรุงขึ้นเป็นความคิดได้นี้เรียกว่า "สังขาร" คือการปรุงคิดอันนับเป็นอนาคตนั่นเองหาใช่สังขารในภาษาคนที่หมายถึงร่างกาย ไม่



รวมความแล้ว จิตมีบทบาทสามประการคือ รู้สึก (ปัจจุบัน) นึก (อดีต) คิด (อนาคต) มีวิถีและกาละอยู่พร้อมสรรพ

ขันธ์ห้าจึงเป็นเรื่องของกายกับจิตโดยเฉพาะ

แต่ "นามรูป" ในปฏิจจสมุปบาทมุ่งเน้นไปที่ผลแห่งการปรุงของวิญญาณ หรือตัวรู้อันถูกกระตุ้นสืบเนื่องมาจากการปรุงแต่งของ "ความไม่รู้" หรือรู้ไม่เท่าทันมาแต่แรกนั้น มันต่างเป็นปัจจัยให้ปรุงเป็นตัวตน (อัตตา) ขึ้นมาทันที นั่นคือ นามรูป นามคือจิต รูปคือกาย

นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ

สฬายต นะ หมายถึง อายตนะ ที่ประกอบพร้อมทั้งภายในภายนอก เช่น ตาเป็นอายตนะภายใน เห็น (วิญญาณ) รูป (อารมณ์) ภายนอกตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ฯลฯ ประกอบพร้อมกันด้วยความรับรู้

นี่แหละเรียกว่า "สฬายตนะ"

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น