วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำธรรมดาๆ เพื่อกำไรที่ไม่ธรรมดา


คำแนะนำธรรมดาๆ เพื่อกำไรที่ไม่ธรรมดา by ลูกอิสาน

คำแนะนำธรรมดาๆ เพื่อกำไรที่ไม่ธรรมดา
by ลูกอิสาน


1.การลงทุนในหุ้นไม่มีทางลัด หากนักลงทุนต้องการผลลัพธ์การลงทุนที่ดี การลงทุนศึกษาหาความรู้ ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของกิจการเป็นสิ่งจำเป็น นักลงทุนที่ทำมากกว่า ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำให้ดีกว่าคนที่ทำน้อย หากเปรียบเทียบผลลัพธ์กับความพยายามในแง่ความคุ้มค่า ชีวิตคนๆหนึ่งอาจใช้เวลาในการศึกษา เล่าเรียนศาสตร์ต่างๆเกือบ 20 ปี และสำเร็จออกมาเพียงเพื่อเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะบรรลุอิสรภาพทางการเงิน และมีเวลาที่จะทำสิ่งที่อยากจะทำ มีกำลังที่จะช่วยเหลือสังคม การมุ่งเน้นศึกษาการลงทุนในหุ้นตามแนวทางเน้นมูลค่าเพียงระยะเวลาไม่นาน และสละเวลาติดตามข่าวสาร ความก้าวหน้าของกิจการบ้าง อาจจะเปลี่ยนชีวิตคนทั้งชีวิต


2. ตัดสินใจซื้อและขายหุ้นบนพื้นฐานของกิจการ การลงทุนซื้อหรือขายหุ้นทุกครั้ง นักลงทุนควรพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการ เพราะหุ้นคือส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจการ การวิเคราะห์หุ้นก็คือการวิเคราะห์กิจการนั่นเอง


3. สิ่งที่ยากที่สุดในการลงทุนระยะยาวในหุ้น คือการพยายามเป็นนักลงทุนที่ใช้เหตุผล ในสภาวะที่ไม่มีใครมองหาเหตุผล ความสามารถในการมองเห็นกระแส โดยที่ตัวนักลงทุนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรเข้าใจคือเมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบคล้ายๆกันเกิดเป็นพฤติกรรมหมู่ หากเกิดมากๆเรียกว่ากระแส ซึ่งบ่อยครั้งพฤติกรรมเหล่านี้จะออกห่างจากความมีเหตุมีผลมากขึ้นทุกทีๆ นักลงทุนที่ใช้เหตุผลควรเพิกเฉยและมองหาประโยชน์จากกระแสนั้นๆ การประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวนั้น ต้องอาศัยทั้งปัญญาและสติ การขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้การลงทุนไปไม่ถึงฝั่ง


4. การลงทุนอย่างมีความสุขคือการหาจุดสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง การมุ่งเน้นผลตอบแทนมากเกินไป อาจจะทำให้การลงทุนประสบหายนะ ในขณะที่การเน้นปกป้องความเสี่ยงมากเกินไป จะทำให้การลงทุนไม่อาจสร้างความแตกต่าง เสมือนเรือที่ลอยนิ่งอยู่กลางน้ำ


5. รู้จักตัวเอง และลงทุนให้เหมาะกับสภาพของตัวเอง นักลงทุนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันทั้งในด้านทัศนะคติ อุปนิสัยใจคอ ความสามารถในการรับความเสี่ยง จำนวนเงินทุน ดังนั้นการรู้ตัวเอง เข้าใจตัวเอง และนำจุดแข็งมาใช้ประโยชน์ในการลงทุน จะดีกว่าการพยายามเลียนแบบการลงทุนตามนักลงทุนคนอื่นๆ ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น 
นักลงทุนที่เน้นความปลอดภัยของเงินต้น ย่อมรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และมั่นคงจะเป็นทางเลือกต้นๆ ในขณะที่นักลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่มาก สามารถลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีที่มีขนาดเล็ก ในขณะที่นักลงทุนที่มีเงินทุนสูงไม่สามารถลงทุนได้


6. แรงผลักดันราคาหุ้น ประการแรกคือโดยปัจจัยพื้นฐานความก้าวหน้าของกิจการ ประการที่สองคือแรงผลักดันจากปัจจัยทางด้านอารมณ์ของนักลงทุนในตลาด การเข้าใจแรงผลักดันประเด็นแรก เพียงพอที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ แต่การเข้าใจทั้งสองประเด็น จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จยิ่งกว่า


7. หุ้นของทุกๆกิจการมีมูลค่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ หากซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น หุ้นที่แม้จะมีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น มีการเติบโตของผลกำไรสูง หากนักลงทุนเข้าซื้อที่ราคาแพงเกินไป การลงทุนนั้นอาจจะไม่ทำกำไร แย่กว่านั้นอาจจะขาดทุน ในขณะที่หุ้นที่อาจจะมีพื้นฐานด้อยกว่า หากซื้อในราคาที่ต่ำ มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเพียงพอ การลงทุนนั้นก็สามารถสร้างกำไรได้ พูดได้ว่าผลลัพธ์การลงทุนขึ้นอยู่กับราคาที่เราจ่ายเปรียบเทียบกับคุณภาพของกิจการที่นักลงทุนได้รับ


8.หุ้นที่ชนะในระยะยาวคือหุ้นของกิจการที่มีอัตราการเติบโตสูง และกิจการต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น การขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้ธุรกิจหรือราคาหุ้นไปได้ไม่ไกล ธุรกิจที่โดดเด่น มักจะขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลูกค้าต้องใช้ซ้ำๆ สามารถขยายฐานลูกค้าออกไปได้ ในขณะที่ลูกค้าเดิมยังคงอยู่ และคู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแข่งขัน หรือเข้ามาได้ยาก หากนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นกิจการเหล่านี้ได้ในราคาถูกหรือราคาสมเหตุสมผล และถือไว้ในระยะยาว การลงทุนเช่นนี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีเลิศ


9. ราคาหุ้นในระยะสั้นเหมือนเครื่องโหวตคะแนนเสียง แต่ราคาหุ้นในระยะยาวเสมือนเครื่องชั่ง ในระยะสั้นๆมีปัจจัยมากมายที่กระทบราคาหุ้น ทั้งข่าวสารต่างๆ ภาวะเศรษกิจ อารมณ์โลภ กลัว แรงซื้อจากรายใหญ่ แรงซื้อจากต่างชาติ ราคาหุ้นสามารถขึ้นหรือลงได้อย่างไร้เหตุผล แต่ในระยะยาวราคาหุ้นจะไปตามผลประกอบการเสมอ ผลประกอบการเป็นเสมือนมือที่มองไม่เห็นที่คอยกำหนดราคาหุ้น ความจริงที่ว่าราคาหุ้นในระยะยาวจะสะท้อนผลประกอบการเสมอ เป็นความจริงที่สมบูรณ์แบบในตลาดหุ้น


10. จังหวะในการซื้อหุ้นที่ดีที่สุดคือตอนที่มีข่าวร้ายมากที่สุด ทั้งที่พื้นฐานของธุรกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนทั่วไปมีแนวโน้มจะขายหุ้นเมื่อราคาลดลง และเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น เพราะนั่นทำให้นักลงทุนสบายใจมากกว่า หากซื้อหุ้นแล้วราคาลดลง นักลงทุนจะรู้สึกผิด และสงสัยว่าทำไมตลาดหรือนักลงทุนคนอื่นๆไม่คิดอย่างนั้น ด้วยความไม่แน่ใจนี้ นักลงทุนจะมีข้ออ้างต่างๆในการขายหุ้นออกไป เช่นว่า หุ้นดีทำไมราคาลง มีข่าวร้ายอะไรที่นักลงทุนยังไม่รู้หรือเปล่า ขายไปก่อนแล้วรอรับกลับที่ราคาต่ำกว่า หรือคำกล่าวที่ว่าถูกแล้วยังมีถูกอีก

และในทางตรงกันข้ามเมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะกระตือรือร้นที่จะซื้อหุ้น ด้วยข้ออ้างที่คล้ายคลึงกัน เช่น หุ้นน่าจะดี เพราะไม่ดีราคาคงไม่ขึ้น มีข่าวดีๆอะไรที่นักลงทุนยังไม่รู้หรือเปล่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หุ้นที่ราคาสูงขึ้น จะสูงขึ้นอีก ยิ่งซื้อราคาก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นยิ่งทำให้นักลงทุนสบายใจ เพราะเข้าใจว่าการลงทุนนั้นถูกตัดสินจากตลาดว่าถูกต้อง แนวโน้มที่นักลงทุนทำการขายเมื่อราคาหุ้นถูก ซื้อเมื่อราคาหุ้นแพง อย่างนี้ จะทำให้การลงทุนล้มเหลวหรือไปได้ไม่ไกล นักลงทุนที่ดีควรทำในทางตรงกันข้าม โดยตัดสินใจซื้อและขายบนพื้นฐานของกิจการ หลีกเลี่ยงไม่ให้อารมณ์ของตลาดเข้ามามีผล ข้อควรระวังของประเด็นนี้คือ การซื้อหุ้นเพียงเพราะเห็นว่าราคาลดลง โดยไม่ได้ตรวจสอบดูว่าพื้นฐานของกิจการมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า จะเป็นอันตรายต่อการลงทุนพอๆกัน


11. มองภาพใหญ่ อย่าใส่ใจภาพเล็ก กิจการทุกกิจการย่อมมีข้อดี ข้อเด่นข้อด้อย แตกต่างกันไป ไม่มีกิจการใดที่ดีพร้อม หรือแย่ไปหมดทุกอย่าง นักลงทุนควรจะเลือกกิจการที่มีข้อเสียน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับราคา การให้ความสำคัญมากเกินไปกับข้อเสียเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร ทำให้นักลงทุนหลายๆคนพลาด ปล่อยโอกาสที่จะได้ลงทุนในกิจการที่ดีเยี่ยมหลุดลอยไป



12. พัฒนาการลงทุน เทคนิควิธีการลงทุนที่เคยใช้ได้ผลดีในวันนี้ อาจจะใช้ไม่ได้ผลดีในวันข้างหน้า วิธีที่เคยใช้ได้ผลดีในต่างประเทศ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ผลดีภายในประเทศ ธุรกิจที่ดีในวันนี้ อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีในเวลาต่อมา มีธุรกิจดาวร่วงก็มีธุรกิจดาวรุ่ง นักลงทุนที่ดีควรยืดหยุ่นที่จะปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม กาลเวลาที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือควรตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ


13. อย่าเสี่ยงเกินตัว การกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อหุ้น การทุ่มซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป แม้อาจจะให้ผลตอบแทนสูงๆติดต่อกันหลายครั้ง แต่หากเกิดความผิดพลาดเพียงแค่ครั้งเดียว อาจไม่มีโอกาสแม้จะแก้ตัว แม้ความเสี่ยงสามารถลดลงได้ด้วยความรู้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่นักลงทุนคนหนึ่งๆจะมีขอบเขตความรู้ในทุกๆเรื่อง นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ การกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์หรือในจำนวนกิจการที่ลงทุนบ้าง เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรใส่ใจ


14. การลงทุนระยาวในหุ้น แน่นอนที่สุดว่าจะต้องผ่านทั้งวันคืนที่ดี วันคืนที่แย่ และวันที่แย่สุดๆ การรับรู้และเข้าใจเรื่องนี้ พร้อมที่จะรับมือกับวันร้ายๆ จะดีกว่าการพยายามที่จะหาจังหวะเข้าออกจากตลาด โดยการทำนาย ทายทัก คาดเดา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะประมาณความถูกต้อง หากการลงทุนระยะยาว สร้างความหวาดกลัววิตกว่าสักวันเหตุการณ์แย่ๆอาจจะเกิดขึ้น การมีทัศนคติที่ว่าในระยะยาวการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงสุด จะทำให้นักลงทุนถือหุ้นระยะยาวได้อย่างมั่นคง

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Shiftout


Shiftout  (Pin , Pclk, SigBitType , ตัวแปร)

Pin คือขาที่ต้องการส่ง DATA ออกไป ซึ่งปกติขานี้จะต่อกับ SDI ของ device (เพราะตัว MCU เป็น SDO) ถ้าเป็นชิพบางรุ่นจะใช้ว่า Din (เพราะตัว MCU เป็น Dout)

Pclk คือ ขาที่ทำหน้าที่เป็นสัญญาณนาฬิกา ซึ่งต่อที่ขา CLK ของ device

SigbitType มี 4 แบบคือ
แบบที่ 0 - MSB first when edge of clock goes low หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญสูงสุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น low
แบบที่ 1 - LSB  first when edge of clock goes low หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่ำที่สุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น low
แบบที่ 2 - MSB first when edge of clock goes high หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญสูงสุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น high
แบบที่ 3 - LSB  first when edge of clock goes high หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่ำที่สุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น high

ตัวแปร หมายถึง ตัวแปรชนิด byte, หรือ word

สมมติ เรา Dim Tmp as Byte

Tmp = 65

Shiftout  PA.0, PA.1, 0 , Tmp

MCU จะกำเนิดสัญญาณนาฬิกาที่ขา PA.1 จำนวน 8 ครั้ง นับขาขึ้นและลง เป็น 1 ตามความถี่ที่ CPU วิ่งหารด้วย 8

ต่อมา ขา PA.0 จะมีการลำดับบิตดังนี้

65 DEC =  0100 0001 BIN
               
บิตที่มีนัยสำคัญมากที่สุดคือบิตสุดท้ายที่อยู่ทางซ้ายมือ ส่วนบิตที่อยู่ทางขวามือคือบิตที่มีนัยสำคัญต่ำ

เมื่อสัญญาณขา PA.1 ขึ้นสู่จุดสูงสุดและกลับลงมา ขา PA.0 จะกลายเป็น Low จากนั้น ขา PA.1 จะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดและกลับลงมาอีกครั้ง คราวนี้ PA.0 จะเป็น High และจะเป็นอย่างนี้สลับกันตามลำดับบิตของตัวแปร Tmp

PA.1 จะสลับขึ้นลงไปมา 8 รอบ โดยแต่ละรอบ PA.0 จะกลายเป็น 0100 0001 ตามลำดับบิต

ฝันร้ายของโอเปค

บ่อน้ำมันเพียงบ่อเดียว..สามารถดูดน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติในแนวขวางได้มากกว่า 10 แหล่ง

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่มิได้คร่ำหวอดในวงการพลังงานอย่างผู้เขียน ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ทำให้เกิดความสนเท่ห์สองประการหลัก

ประการแรก ทำไมการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่สาม (QE3) ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่จุดประกายให้เกิดการอัดฉีดและ/หรือลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และทำให้สภาพคล่องล้นโลกและราคาสินทรัพย์อื่น ๆ ทั่วโลกพุ่งกระฉูด กลับไม่ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เหมือนสองครั้งแรกที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบพุ่งขึ้นถึง 49.4% และ 37.8% ตามลำดับ

ประการที่สอง ทำไมราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ที่ซื้อขายในสหรัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถึงต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์และดูไบ (ซื้อขายที่ตลาดลอนดอน) ที่อยู่ที่ประมาณ 105-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงหลัง (ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ราคาทั้งสามล้อกันมาโดยตลอด)

เมื่อสงสัยจึงศึกษา และคำตอบที่ได้พบว่านั่นเกิดจากในสหรัฐอเมริกาได้นำเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแนวขวาง (Horizontal Drilling and Hydraulic Fracturing) โดยใช้อัดฉีดน้ำปริมาณมากผสมกับทรายและสารเคมีบางอย่างเพื่อทำให้ชั้นหินดินดาน (Shale) แตกออก เพื่อที่จะดูดก๊าซและ/หรือน้ำมัน (Shale Gas/ Shale Oil) ออกมา (ส่วนใหญ่เป็นก๊าซ)

การขุดเจาะดังกล่าวแม้มีต้นทุนที่สูงกว่าการขุดเจาะแบบปกติ (แนวดิ่ง) แต่ก็สามารถขุดเจาะน้ำมันและ/หรือก๊าซธรรมชาติออกมาได้มาก (ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง) เนื่องจากธรรมชาติของแหล่งน้ำมันจะวางตัวในแนวขวางเป็นหลัก ดังนั้นบ่อน้ำมันเพียงบ่อเดียวก็สามารถดูดน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติในแนวขวางได้มากกว่า 10 แหล่งด้วยกัน

คำถามที่ตามมาคือ เทคนิคใหม่นี้จะเป็นความหวังของตลาดพลังงานโลกได้มากน้อยเพียงใด โอกาสที่ประเทศอื่นๆ จะทำตามสหรัฐมีมากน้อยเพียงใด และความเสี่ยงของ Hydraulic Fracturing คืออะไร นอกจากนั้น คำถามสำคัญที่สุดคือ Shale Gas/ Shale Oil จะทำให้ตลาดพลังงานโลก รวมถึงภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปเช่นไร

การจะตอบคำถามดังกล่าวได้ จะต้องเข้าใจโครงสร้างการใช้พลังงานโลกก่อน โดยในปัจจุบัน โลกพึ่งพาพลังงานจากสามแหล่งหลัก ได้แก่ น้ำมัน (ประมาณ 33%) ถ่านหิน (30%) และก๊าซธรรมชาติ (21%) ที่เหลือคือสามแหล่งเสริม ได้แก่ พลังน้ำ นิวเคลียร์ และพลังงานทดแทน (รวมประมาณ 16%)

จากการประมาณการของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าหากการพัฒนาการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ยังคงระดับเดิม จะทำให้โครงสร้างพลังงานโลกเปลี่ยนไป โดยหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเป็น 25% ขณะที่การใช้น้ำมันและถ่านหินจะลดลงมาอยู่ระดับเดียวกัน

เมื่อพิจารณาจากสหรัฐ Hydraulic Fracturing จะทำให้สหรัฐมีความเป็นอิสระเชิงพลังงานในอีก 20 ปี จากปัจจุบันต้องนำเข้ากว่า 50% ของการบริโภคน้ำมันรวม (19 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดยทั้งการผลิต Shale Gas และ Shale Oil จะเพิ่มขึ้นถึง 25% และ 300% ในปี 2020 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น จะทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกแทนที่ซาอุดีอาระเบีย (จนมีการขนานนามว่าสหรัฐว่าจะเป็น “ซาอุดีอเมริกา”)

แต่ในระยะใกล้ สหรัฐก็ยังไม่สามารถดีใจจนเกินเหตุได้ เพราะการผลิต Shale Gas และ Shale Oil เป็นเพียงประมาณ 25% และ 10% ของการผลิตรวมในประเทศเท่านั้น (เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง) แต่เพราะตลาดน้ำมันเป็นตลาดที่ตึงตัวมาก ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน) ก็ทำให้ราคาน้ำมัน WTI ลดลงมาก

แต่การผลิต Shale Gas ที่เพิ่มขึ้นมากก็มีข้อเสีย (ต่อผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ) เพราะทำให้ราคาก๊าซในประเทศลดลงมาก แต่ไม่สามารถส่งออกขายยังประเทศอื่น ๆ ได้มากนัก เนื่องจากธรรมชาติของก๊าซที่เป็นสสารเบา จึงต้องขนส่งในรูปแบบของเหลว (Liquid Natural Gas) ผ่านจุดเยือกแข็งที่ -162 องศาเซลเซียส จึงยากต่อการขนส่งระหว่างประเทศ

นั่นทำให้ราคาก๊าซในสหรัฐลดลงเหลือประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาของก๊าซในเอเชีย (รวมทั้งไทย) ที่ไม่มีการผลิต Shale Gas สูงถึง 15-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีการทำสัญญาระยะยาวที่ผูกติดกับราคาน้ำมัน (ต่างจากสหรัฐที่ขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานของก๊าซ)

ส่วนในกรณีของ Shale Oil นั้น แม้จะทำให้สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น แต่กฎหมายสหรัฐห้ามผู้ผลิตส่งน้ำมันดิบออกขายระหว่างประเทศ (ต้องแปรรูปก่อน) ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบ WTI จึงถูกกว่าราคาน้ำมันดิบอื่นๆ

ถ้าเช่นนั้น ประเทศอื่นๆ จะเลียนแบบสหรัฐในการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing เพื่อให้ได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาถูกได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ในระยะสั้น เพราะแม้ว่าในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกจะมีแหล่ง Shale Gas/Oil ที่มากกว่าสหรัฐ (เช่น จีน ยุโรป และ ละตินอเมริกา ที่มีประมาณ 1-1.5 เท่าของสหรัฐ) แต่การขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ในประเทศเหล่านั้นเผชิญปัจจัยลบสองประการ

ประการแรกคือ ประเด็นด้านความเป็นเจ้าของและการใช้สอยที่ดิน โดยในสหรัฐ แหล่งขุดเจาะส่วนใหญ่จะเป็นไร่นาที่เจ้าของอนุญาตให้ขุดเจาะได้เพราะได้รับผลตอบแทนจากการอนุญาตให้ขุดเจาะ แต่ในประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งชุมชน และ/หรือ ผู้อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเจ้าของ จึงไม่ได้ผลตอบแทนจากการขุดเจาะ

ประการสอง ได้แก่ ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการปนเปื้อนของน้ำบาดาล (เพราะการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ต้องใช้น้ำและสารเคมีเป็นจำนวนมาก) และการพังทลายของชั้นหินทำให้เกิดความกังวลเรื่องแผ่นดินไหวและโอกาสที่ก๊าซจะรั่วไหล (งานวิจัยหลายที่ระบุว่าหากมีการบริหารจัดการดี ก็จะสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ แต่ประชาชนในหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปก็ยังคงกังวลอยู่ดี)

ปัจจัยลบทั้งสองทำให้การผลิต Shale Gas/Oil ยังคงจำกัดอยู่ในสหรัฐอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสหรัฐ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิต/การขนส่งถูกลง ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง ทำให้ดุลการค้า/บัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง รวมถึงทำให้เงินเฟ้อไม่สูงมากและทำให้มีแนวโน้มที่ราคาโภคภัณฑ์อื่นๆ ไม่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อสหรัฐแต่เป็นผลลบประเทศต่อผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันอย่างกลุ่มโอเปค

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าในระยะสั้น ราคาน้ำมันดิบจะไม่สูงขึ้นมาก แม้จะไม่ถูกลงอย่างฮวบฮาบก็ตาม (เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีต้นทุนสูง รวมถึงประเทศอื่นยังไม่ให้การยอมรับเต็มที่) ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติในสหรัฐจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของสหรัฐถูกลง และในระยะยาวการพัฒนาการผลิตแบบ Hydraulic Fracturing จะทำให้มีพลังงานจาก Shale Gas/Oil ใช้ได้อีกนาน

เตรียมใจไว้เลยว่า การเกิดขึ้นของ Hydraulic Fracturing จะเปลี่ยนโลกทัศน์ของตลาดพลังงานโลก รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจการเงินโลกในอนาคต นักธุรกิจ/นักลงทุนและผู้กำกับนโยบาย จะต้องเตรียมตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Shale Gas ทางรอดพลังงานที่โลกยังต้องลุ้น



ชื่อ:  news_img_481176_1.jpg
ครั้ง: 56
ขนาด:  48.0 กิโลไบต์


ไม่กี่ปีมานี้ คำว่า “Shale Gas” กลายเป็นศัพท์ฮิตในอุตสาหกรรมพลังงานโลก ในฐานะทางเลือกใหม่ที่จะมาแทนที่พลังงานในรูปแบบอื่นๆ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ผันผวน และทรัพยากรพลังงานแบบดั้งเดิมที่เริ่มร่อยหรอ

Shale Gas หรือก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน ช่วยให้โลกมีปริมาณก๊าซสำรองเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถูกกักอยู่ในหินดินดาน ทำให้กระบวนการขุดเจาะที่ซับซ้อนมากกว่าก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิม ขณะที่สหรัฐค้นพบเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing หรือการขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูง ผสมสารเคมีและทรายเพื่อให้หินแตกร้าว ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำลงเมื่อเทียบกับการขุดเจาะในแหล่งพลังงานดั้งเดิม

นี่ทำให้บริษัทพลังงานหลายแห่งพยายามจะเดินตามรอยความสำเร็จของสหรัฐ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายดาย เพราะปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้สหรัฐยังคงมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันค่อนข้างมาก

ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากหินดินดานที่เพิ่งค้นพบใหม่ ช่วยปลุกอุตสาหกรรมพลังงานในอเมริกาเหนือ และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมจากราคาพลังงานที่ต่ำลง ขณะเดียวกัน ก็พบข้อมูลว่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานขนาดใหญ่อยู่นอกอเมริกาเหนือ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนกระตือรือร้นที่จะร่วมกระแสนี้

แต่ดูเหมือนบริษัทน้ำมันหลายรายกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากการเดินตามรอยความสำเร็จของสหรัฐในแหล่งก๊าซบนทวีปอื่นๆ โดยเหตุผลที่ทำให้ยังไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของสิทธิแหล่งแร่ รวมถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และขาดโครงสร้างพื้นฐานในการขุดเจาะและขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะขาดข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับแหล่งพลังงานในประเทศต่างๆ ผิดกับสหรัฐที่กิจกรรมด้านขุดเจาะพลังงานดำเนินมายาวนานกว่าศตวรรษ

หมายความว่า จนถึงขณะนี้ สหรัฐและแคนาดายังคงเป็นประเทศหลักที่เก็บเกี่ยวความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจ จากการพัฒนาเรื่องก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานที่ล้ำหน้าประเทศอื่นๆ และการที่ทั้ง 2 ประเทศมีก๊าซธรรมชาติและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอย่างล้นเหลือ มีส่วนดึงดูดให้บริษัทปิโตรเคมีและผู้ผลิตปุ๋ยเข้ามาสร้างโรงงานใหม่ แทนที่จะยกขบวนออกไปตั้งฐานผลิตนอกบ้านอย่างที่ทำมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะรัฐเท็กซัสและนอร์ทดาโกต้าที่ได้อานิสงส์จากแหล่งพลังงานจากหินดินดาน ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้นจากกิจกรรมการขุดเจาะแบบใหม่

ขณะที่โปแลนด์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญในตลาดนี้ กลับต้องผิดหวัง เมื่อพบปริมาณก๊าซไม่มากอย่างที่คาดไว้ บวกับความกังวลของชุมชนเกี่ยวกับการขุดเจาะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎเรื่องภาษีและค่าธรรมเนียม ส่งผลให้ “เอ็กซอน โมบิล คอร์ป” ตัดสินใจโยนผ้าขาวยอมแพ้ในโปแลนด์ หลังจากขุดเจาะก๊าซแค่ 2 หลุม โดยบริษัทให้เหตุผลว่า ไม่พบน้ำมันหรือก๊าซมากพอที่จะเดินหน้าขุดเจาะเพิ่มเติม

จีน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คาดกันว่าน่าจะมีน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดานมหาศาล มากกว่าในสหรัฐเสียอีก แต่ปัญหาอยู่ที่แหล่งก๊าซจากหินดินดานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง หรือไม่ก็มีประชากรหนาแน่น นอกจากนี้ บริษัทน้ำมันยังกังวลว่าอาจไม่มีปริมาณน้ำมากพอที่จะใช้แรงดันน้ำทำให้หินแตกออก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้สารไฮโดรคาร์บอนออกมาจากชั้นหิน

ไซมอน เฮนรี ผู้อำนวยการบริหารของโรยัล ดัตช์ เชลล์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกว่า การจะสร้างแท่นขุดเจาะก๊าซจากหินดินดาน อาจต้องขออนุญาตขุดเจาะพื้นที่บางส่วนของภูเขา หรือไม่ก็บนนาข้าวของใครสักคน

เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา ที่เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งยึดคืนบริษัทของสเปนเป็นของรัฐ ก็ค้นพบแหล่งพลังงานจากหินดินดานขนาดใหญ่ที่น่าจะมีน้ำมันเกือบ 1 พันล้านบาร์เรล แต่กฎระเบียบที่เข้มงวดทำให้นำเข้าเทคโนโลยีที่จำเป็นได้ยาก เช่นเดียวกับการส่งกำไรกลับบ้าน “อาปาเช่ คอร์ป” ที่ได้สิทธิขุดเจาะแหล่งพลังงานจากหินดินดานราว 450,000 เอเคอร์ ระบุว่า อาจจะมีต้นทุนในการขุดเจาะสูงกว่าที่สหรัฐราว 2 เท่า และอาจต้องใช้ต้นทุนในการทำให้หินแตกเพื่อเริ่มการผลิตสูงกว่าราวๆ 2-4 เท่า

ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส บัลแกเรีย ต่างก็ห้ามใช้เทคโนโลยีขุดเจาะด้วยแรงดันน้ำ เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงพับแผนพัฒนาเรื่องนี้เอาไว้ก่อน

“โจเซฟ สแตนิสลอว์” ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพลังงานของดีลอยต์ มองว่า ยังมีโอกาสในการพัฒนาพลังงานจากหินดินดานอีกมาก เมื่ออุตสาหกรรมนี้ก้าวสู่ความจริง และเริ่มต้นจริงจัง พลังงานจากหินดินดานก็จะทะยานขึ้นเหมือนในสหรัฐ แต่ระยะเวลาอาจจะยาวนานกว่าที่หลายคนคาดคิด

เพราะความสำเร็จของสหรัฐเกิดขึ้นจากปัจจัยที่แตกต่าง เทคโนโลยีการขุดเจาะด้วยน้ำแรงดันสูงบุกเบิกโดยบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการเสี่ยง รวมทั้งได้แรงหนุนจากเจ้าของที่ดินที่ถือสิทธิครอบครองแหล่งแร่ และพร้อมจะแลกกับผลกำไร ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐมีเครือข่ายท่อก๊าซและแท่นขุดเจาะจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ดังนั้น การผลิตก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานจึงเป็นโมเดลเฉพาะของสหรัฐ

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในบทเรียนความสำเร็จของสหรัฐ แต่มักถูกมองข้าม คือ การพัฒนาพลังงานจากหินดินดานส่วนใหญ่เป็นก๊าซจากใต้พื้นดิน จึงก่อความกังวลเกี่ยวกับการขุดเจาะในพื้นที่ของเจ้าของที่ดินที่ต้องการผลกำไร แตกต่างกับในประเทศอื่นๆ ที่สิทธิแหล่งแร่เป็นของรัฐ จึงไม่ค่อยจูงใจการขุดเจาะเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ความแตกต่างอีกประการ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งพลังงานจากหินดินดานที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ขุดเจาะแหล่งพลังงานนับหมื่นแห่ง และมีข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ แม้ว่านักธรณีวิทยาอาจจะพอรู้ว่าแหล่งพลังงานจากหินดินดานในประเทศต่างๆ อยู่ที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าสภาพหินแบบไหนที่เหมาะต่อการใช้เทคโนโลยีขุดเจาะด้วยน้ำแรงดันสูง

แต่การลงทุนก็อาจคุ้มค่ากับการเสี่ยง เพราะผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานน่าจะมีอยู่มหาศาล โดยผลการศึกษาของรัฐบาลสหรัฐในปีที่แล้ว ประเมินว่า แหล่งพลังงานจากหินดินดานน่าจะมีอยู่ใน 32 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นปริมาณมากถึง 6.6 พันล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นปริมาณการบริโภคทั้งโลกในขณะนี้ ได้ยาวนานกว่า 50 ปี ขณะที่สหรัฐครอบครอง 862 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือ 13% ของที่ประเมินทั้งหมด

เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้ปริมาณที่มากเพียงพอ ซึ่งทั้งเชฟรอนและบริษัทอื่นๆ ต่างหวังว่าจะสร้างอุตสาหกรรมการกลั่นก๊าซจากหินดินดานในโปแลนด์ได้สำเร็จ และพบก๊าซมากพอที่จะทำให้คุ้มค่ากับต้นทุนการขุดเจาะ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังเผชิญกับแรงต้านจากประชาชน ส่งผลให้กระบวนการออกใบอนุญาตขุดเจาะล่าช้า

“พิออตร์ วอสเนียก” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ของโปแลนด์ บอกว่า กฎหมายพลังงานฉบับใหม่จะจัดสรรเงินชดเชยให้รัฐบาลท้องถิ่นที่มีการดำเนินการขุดเจาะพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านจากคนในท้องถิ่นได้

ขณะที่ “พิออตร์ แดมป์” ชาวบ้านที่เพิ่งขายที่ดิน เล่าว่า ถูกบริษัทกดดันให้ต้องขายที่ไป เพราะก๊าซที่อยู่ใต้ดินเป็นของรัฐ และอาจต้องเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อตั้งแท่นขุดเจาะ แต่หากไม่ยอมขาย กระบวนการก็อาจยาวนานออกไปอีก


ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นิสัยเซียน



โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เซียนหุ้นชั้นนำของโลกแต่ละคนมักมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ละคนมักมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ศึกษาดูจะพบว่าเซียนเหล่านั้นมักมีนิสัยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในหลายๆเรื่อง และต่อไปนี้คือนิสัยที่ผมคิดว่าเราควรศึกษาและประยุกต์ใช้ ถ้าเราอยากจะเป็น “เซียน” บ้าง

.
เรื่องแรกก็คือ เซียนตัวจริงนั้น เวลาลงทุน เรื่องที่คิดมากที่สุดกลับไม่ใช่ว่าจะทำกำไรได้มหาศาลแค่ไหน แต่เป็นว่า จะรักษาเงินต้นเอาไว้ได้อย่างไร และนี่ก็คือกฎข้อหนึ่งและข้อสองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ซึ่งบอกว่า หลักการลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าขาดทุน และอย่าขาดทุน



.
เรื่องที่สองก็คือ การลงทุนนั้น เซียนแต่ละคนจะมีหลักปรัชญา หลักการ และวิธีการลงทุนที่ชัดเจนเป็นแบบฉบับของตนเอง ไม่มีการมั่วหรือเป็น “มวยวัด” สิ่งต่างๆเหล่านั้นถูกพัฒนาและทดสอบมาเป็นอย่างดีเป็นเวลายาวนาน และจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลับไปกลับมา

.
เรื่องที่สามก็คือ เซียนหุ้นนั้นไม่ชอบความเสี่ยงแต่ชอบความแน่นอน และความ “ได้เปรียบ” เวลาจะลงทุนอะไรมักจะคิดถึงโอกาสชนะว่ามีสูงกว่าโอกาสที่จะแพ้มากน้อยแค่ไหน ถ้าโอกาสชนะมากกว่าแพ้เพียงเล็กน้อย เขามักจะ “ไม่เล่น” เพราะฉะนั้น เราจะไม่เห็นคนเหล่านี้เล่นรูเล็ตหรือเข้าคาสิโนเพื่อการพนันซึ่งโอกาสชนะมี แค่ 30-40% ขณะที่โอกาสแพ้อยู่ที่ 60-70% แต่การลงทุนที่โอกาสชนะสูงมากๆนั้นมีไม่มาก ดังนั้นเซียนจึงมักไม่เล่นหรือลงทุนบ่อยนัก

.
เรื่องที่สี่ก็คือ เซียนนั้นลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้จักดี มีการวิเคราะห์และคิดเอง ไม่เชื่อคนอื่นโดยไม่ได้พิจารณาด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง ในทางตรงกันข้าม เซียนจะไม่ลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ หรือการลงทุนนั้นไม่เข้าเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด หรือตนเองไม่สบายใจที่จะลง ตัวอย่างเช่นหุ้นที่มีค่า PE และ/หรือ PB สูงเกินไป หุ้นที่ผู้บริหารไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น แม้ว่าหุ้นเหล่านั้นอาจจะทำกำไรให้ได้ง่ายและเร็วในบางสถานการณ์

.
นิสัยที่ห้าก็คือ เซียนส่วนใหญ่จะไม่ “กระจายความเสี่ยง” โดยการกระจายการถือหุ้นมากเกินไป เซียนมักจะมีหุ้นหลักตัวใหญ่ๆในพอร์ตซึ่งเป็นตัวที่จะกำหนดผลงานหรือความเป็นความตายในการลงทุนเพียงไม่กี่ตัวแม้ว่าเขาจะมีหุ้นย่อยๆเป็น 10 หรือ 100 และแม้แต่ 1,000 ตัว อย่างพอร์ตของ ปีเตอร์ ลินช์ หุ้นตัวหลักๆเหล่านั้นก็คือหุ้นที่สร้างความแตกต่างและทำให้เซียนเป็นเซียนขึ้นมาได้


ข้อสรุปในเรื่องนี้ก็คือ การเป็นเซียนนั้น คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกหุ้นถูกทุกตัวหรือแม้จะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ข้อสำคัญก็คือ ในหุ้น 10 ตัว คุณอาจจะเลือกถูกเพียง 3 ตัว แต่ถ้าหุ้น 3 ตัวนั้นเป็นหุ้นที่ทำกำไรมหาศาลก็เพียงพอแล้วสำหรับผลงานที่ดีเยี่ยม

.
นิสัยที่หกก็คือ เซียนหุ้นตัวจริงนั้นมี “EQ” ของการลงทุนสูง ไม่ใคร่หวั่นไหวกับภาวะตลาดผันผวนหรือข่าวต่างๆ ที่อาจจะดูรุนแรงแต่ผลกระทบจริงต่อการลงทุนมีน้อย
นิสัยในกลุ่มนี้ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักใจเย็น สามารถอดทนรอได้อย่าง “ไม่มีเวลาจำกัด” ถ้ายังไม่เห็นโอกาส ขณะเดียวกัน ถ้าเห็นโอกาส “ลอยมาตรงหน้า” เซียนหุ้นสามารถตัดสินใจ และลงมือได้ทันทีไม่มีการผัดวันประกันพรุ่ง หรือต้องไปศึกษาพินิจพิจารณายืดยาว ความรู้สึกของผมก็คือ เซียนหุ้นชั้นนำคงจะมีความคิดต่างๆอยู่ในใจที่พร้อมอยู่แล้ว เมื่อโอกาสเปิดก็คว้าได้ทันที

.
พฤติกรรมที่เจ็ดของเซียนหุ้นก็คือ ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ภาษาหุ้นและการลงทุนก็คือ สามารถ “Cut Loss” ได้ทันทีเมื่อเห็นว่าหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่ไม่เป็นไปตามที่คาด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เหตุผลในการซื้อหมดไป พูดง่ายๆ เซียนหุ้นมักไม่ยอม “ติดหุ้น” อย่างนักลงทุนประเภท “แมงเม่า” ซึ่งไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดโดยการขายหุ้นที่ขาดทุนมากทิ้งได้

.
ข้อแปดที่ผมเลือกมาก็คือ เซียนหุ้นนั้น เวลาลงทุนแต่ละครั้งจะต้องมี “Story” หรือเรื่องราว หรือเหตุผลหลักว่าทำไมจึงลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้น ซึ่งไม่ใช่เพราะคิดว่าราคาหุ้นจะขึ้น แต่จะต้องเป็นเรื่องอื่นๆที่เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลต่อราคาหุ้นในที่สุด เรื่องราวอาจเป็นได้ทั้งเรื่องระยะสั้นหรือระยะยาว อาจเป็นได้ทั้งเรื่องของตัวธุรกิจเอง หรือเรื่องภายนอกที่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อตัวธุรกิจและราคาหลักทรัพย์ในที่สุด

.
นิสัยที่เก้าก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักจะเป็นคนบ้าหุ้น หายใจเข้าออกเป็นเรื่องของการลงทุน ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของตนมักจะอยู่ในหลักทรัพย์ การลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่ใช่คนที่เฝ้ากระดานหุ้น ติดตามราคาหุ้นทุกนาที เพราะเซียนหุ้นตัวจริงนั้นไม่จำเป็นและมักไม่สนใจการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ในระยะสั้น เซียนหุ้นชอบศึกษาและติดตามความเป็นไปของกิจการ ภาวะแวดล้อม และประเด็นอื่นๆที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์มากกว่า

.
สุดท้ายก็คือ นิสัยส่วนตัวของเซียนการลงทุน ที่ดูแล้วก็น่าแปลก ค่าที่ว่าเซียนหุ้นมักจะเป็นคนที่มีความมั่งคั่งมหาศาล (ถ้าไม่มั่งคั่ง ใครจะเรียกว่าเป็นเซียน!) แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับใช้ชีวิตธรรมดาแบบคนชั้นกลางระดับสูงเล็กน้อย และไม่มีใครเลยที่ใช้ชีวิตความเป็นอยู่สูงกว่าระดับความมั่งคั่งของตนเอง ทั้งที่ดูไปแล้ว เงินสำหรับเซียนนั้น หามาได้ง่ายและเร็ว แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ชอบใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือใช้เงินไม่คุ้มค่า


นิสัยทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่ได้หมายความว่าเซียนทุกคนต้องมีเหมือนกันหมด เพียงแต่เป็นนิสัยที่เซียนหลายๆคนที่ผมศึกษามี และผมคิดว่านิสัยหลายๆข้อมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จในการลงทุนให้แก่เขา และผมเชื่อว่า ถ้า Value Investor นำเอาไปใช้และทำให้เป็นนิสัย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนคงจะมีสูงขึ้น

แบงก์ชาติเตือนปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 56


แบงก์ชาติเตือนปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี"56

 หวั่นหนี้ยุโรปปะทุ-ลงทุนภาครัฐล่าช้า ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทันขึ้่นค่าแรง 300 บาท ทั่วไทย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวปาฐกถาในห้วข้อ "ถอดรหัสปัจจัยเสี่ยง รับความท้าทายเศรษฐกิจศักราชใหม่" ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงไทย วานนี้ (4 ธ.ค.) ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2556 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่มาจากทั้งภายในและภายนอก โดยความท้าทายภายในที่สำคัญ คือ เรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และความท้าทายของภาคการคลัง

แม้ที่ผ่านมาภาคธุรกิจส่วนใหญ่สามารถปรับตัวต่อค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ แต่การปรับขึ้นอีกระลอกในปีหน้า ยังเป็นความท้าทายต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งได้แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแล้วในปีนี้ และจะต้องติดตามว่าจะยังสามารถปรับตัวอีกครั้งได้มากน้อยเพียงไรภายใต้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ หากธุรกิจสามารถปรับตัวผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าจะโดยการปรับลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ก็อาจถือเป็นการเตรียมความพร้อมของธุรกิจเพื่อการแข่งขันในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ส่วนภาคการคลังที่ตั้งใจเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และเป็นแรงสนับสนุนให้กับการใช้จ่ายในประเทศนั้น ยังมีความเสี่ยงว่า กระบวนการต่างๆ ในทางปฎิบัติอาจล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะทำให้โครงการที่เกี่ยวเนื่องของภาคเอกชนต้องล่าช้าตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากรัฐบาลสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง


สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกนั้น ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก จะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาจทำให้ไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่เป็นระยะแม้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มว่าจะทยอยฟื้นตัว

"ความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตายังอยู่ที่ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจปะทุขึ้นอีกในปีหน้าได้ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายยังกังวลว่าอาจเกิดขึ้นในทางปฎิบัติได้ยาก"นายประสารกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ(คิวอี) รอบ 3 ออกมา ยังไม่สร้างแรงกดดันกับค่าเงินบาทไทยมากนัก ถ้าดูมาตรการคิวอี3 ซึ่งใช้วงเงินเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะต้องใช้เวลา 20 เดือนจึงจะมีปริมาณเท่ากับ คิวอี 2 ซึ่งมีขนาดอยู่ที่ 7.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้าดูเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีรวม 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นประมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) เพราะมาตรการภาษีต่างๆ ของสหรัฐที่จะหมดอายุในสิ้นปี 2555 มีขนาดประมาณ 3.5% ของจีดีพีสหรัฐ ในขณะที่ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าส่วนใหญ่ของสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 2% ดังนั้นหากมาตรการภาษีเหล่านี้ไม่ถูกต่ออายุเลย จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสหดตัวได้ในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกด้วย


ในมุมมองของ ธปท. แล้ว เชื่อว่าสหรัฐคงต่ออายุมาตรการเหล่านี้ออกไปเป็นส่วนใหญ่ โดยในส่วนที่ไม่ได้รับการต่ออายุออกไปอาจมีบ้าง โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 1.4% ของจีดีพีสหรัฐ แต่เมื่อเทียบกับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ 2% แล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าก็คาดว่ายังเติบโตได้อยู่ ถ้าเป็นแบบนี้ก็คงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจของจีนและเอเชียที่ออกมาล่าสุด มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด ตัวเลขการบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นของจีนถือเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตได้จากการใช้จ่ายในประเทศ แม้ว่าการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง

"มองไปข้างหน้า ผมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงแรงส่งจากในประเทศ หรือพึ่งตัวเองต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซา โดยการบริโภคยังมีแรงหนุนจากรายได้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือน และภาวะการเงินที่ยังผ่อนคลาย ส่วนการลงทุนความเชื่อมั่นก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2556 จะขยายตัวได้ในอัตรา 4.6%"นายประสารกล่าว


ส่วนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เขากล่าวว่า การจับจ่ายใช้สอยในประเทศและรายได้จากภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะที่การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวขาดตลาดต่างประเทศ ก็เริ่มมีสัญญาณทรงตัวขึ้น เศรษฐกิจในปีนี้จึงมั่นใจว่าน่าจะเติบโตได้จากปีก่อน โดยคาดว่าขยายตัวประมาณ 5.7%