วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แบงก์ชาติเตือนปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 56


แบงก์ชาติเตือนปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี"56

 หวั่นหนี้ยุโรปปะทุ-ลงทุนภาครัฐล่าช้า ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทันขึ้่นค่าแรง 300 บาท ทั่วไทย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวปาฐกถาในห้วข้อ "ถอดรหัสปัจจัยเสี่ยง รับความท้าทายเศรษฐกิจศักราชใหม่" ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงไทย วานนี้ (4 ธ.ค.) ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2556 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่มาจากทั้งภายในและภายนอก โดยความท้าทายภายในที่สำคัญ คือ เรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และความท้าทายของภาคการคลัง

แม้ที่ผ่านมาภาคธุรกิจส่วนใหญ่สามารถปรับตัวต่อค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ แต่การปรับขึ้นอีกระลอกในปีหน้า ยังเป็นความท้าทายต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งได้แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแล้วในปีนี้ และจะต้องติดตามว่าจะยังสามารถปรับตัวอีกครั้งได้มากน้อยเพียงไรภายใต้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ หากธุรกิจสามารถปรับตัวผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าจะโดยการปรับลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ก็อาจถือเป็นการเตรียมความพร้อมของธุรกิจเพื่อการแข่งขันในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ส่วนภาคการคลังที่ตั้งใจเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และเป็นแรงสนับสนุนให้กับการใช้จ่ายในประเทศนั้น ยังมีความเสี่ยงว่า กระบวนการต่างๆ ในทางปฎิบัติอาจล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะทำให้โครงการที่เกี่ยวเนื่องของภาคเอกชนต้องล่าช้าตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากรัฐบาลสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง


สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกนั้น ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก จะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาจทำให้ไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่เป็นระยะแม้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มว่าจะทยอยฟื้นตัว

"ความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตายังอยู่ที่ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจปะทุขึ้นอีกในปีหน้าได้ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายยังกังวลว่าอาจเกิดขึ้นในทางปฎิบัติได้ยาก"นายประสารกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ(คิวอี) รอบ 3 ออกมา ยังไม่สร้างแรงกดดันกับค่าเงินบาทไทยมากนัก ถ้าดูมาตรการคิวอี3 ซึ่งใช้วงเงินเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะต้องใช้เวลา 20 เดือนจึงจะมีปริมาณเท่ากับ คิวอี 2 ซึ่งมีขนาดอยู่ที่ 7.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้าดูเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีรวม 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นประมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) เพราะมาตรการภาษีต่างๆ ของสหรัฐที่จะหมดอายุในสิ้นปี 2555 มีขนาดประมาณ 3.5% ของจีดีพีสหรัฐ ในขณะที่ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าส่วนใหญ่ของสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 2% ดังนั้นหากมาตรการภาษีเหล่านี้ไม่ถูกต่ออายุเลย จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสหดตัวได้ในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกด้วย


ในมุมมองของ ธปท. แล้ว เชื่อว่าสหรัฐคงต่ออายุมาตรการเหล่านี้ออกไปเป็นส่วนใหญ่ โดยในส่วนที่ไม่ได้รับการต่ออายุออกไปอาจมีบ้าง โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 1.4% ของจีดีพีสหรัฐ แต่เมื่อเทียบกับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ 2% แล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าก็คาดว่ายังเติบโตได้อยู่ ถ้าเป็นแบบนี้ก็คงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจของจีนและเอเชียที่ออกมาล่าสุด มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด ตัวเลขการบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นของจีนถือเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตได้จากการใช้จ่ายในประเทศ แม้ว่าการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง

"มองไปข้างหน้า ผมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงแรงส่งจากในประเทศ หรือพึ่งตัวเองต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซา โดยการบริโภคยังมีแรงหนุนจากรายได้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือน และภาวะการเงินที่ยังผ่อนคลาย ส่วนการลงทุนความเชื่อมั่นก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2556 จะขยายตัวได้ในอัตรา 4.6%"นายประสารกล่าว


ส่วนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เขากล่าวว่า การจับจ่ายใช้สอยในประเทศและรายได้จากภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะที่การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวขาดตลาดต่างประเทศ ก็เริ่มมีสัญญาณทรงตัวขึ้น เศรษฐกิจในปีนี้จึงมั่นใจว่าน่าจะเติบโตได้จากปีก่อน โดยคาดว่าขยายตัวประมาณ 5.7%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น