วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Shale Gas ทางรอดพลังงานที่โลกยังต้องลุ้น



ชื่อ:  news_img_481176_1.jpg
ครั้ง: 56
ขนาด:  48.0 กิโลไบต์


ไม่กี่ปีมานี้ คำว่า “Shale Gas” กลายเป็นศัพท์ฮิตในอุตสาหกรรมพลังงานโลก ในฐานะทางเลือกใหม่ที่จะมาแทนที่พลังงานในรูปแบบอื่นๆ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ผันผวน และทรัพยากรพลังงานแบบดั้งเดิมที่เริ่มร่อยหรอ

Shale Gas หรือก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน ช่วยให้โลกมีปริมาณก๊าซสำรองเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถูกกักอยู่ในหินดินดาน ทำให้กระบวนการขุดเจาะที่ซับซ้อนมากกว่าก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิม ขณะที่สหรัฐค้นพบเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing หรือการขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูง ผสมสารเคมีและทรายเพื่อให้หินแตกร้าว ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำลงเมื่อเทียบกับการขุดเจาะในแหล่งพลังงานดั้งเดิม

นี่ทำให้บริษัทพลังงานหลายแห่งพยายามจะเดินตามรอยความสำเร็จของสหรัฐ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายดาย เพราะปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้สหรัฐยังคงมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันค่อนข้างมาก

ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากหินดินดานที่เพิ่งค้นพบใหม่ ช่วยปลุกอุตสาหกรรมพลังงานในอเมริกาเหนือ และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมจากราคาพลังงานที่ต่ำลง ขณะเดียวกัน ก็พบข้อมูลว่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานขนาดใหญ่อยู่นอกอเมริกาเหนือ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนกระตือรือร้นที่จะร่วมกระแสนี้

แต่ดูเหมือนบริษัทน้ำมันหลายรายกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากการเดินตามรอยความสำเร็จของสหรัฐในแหล่งก๊าซบนทวีปอื่นๆ โดยเหตุผลที่ทำให้ยังไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของสิทธิแหล่งแร่ รวมถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และขาดโครงสร้างพื้นฐานในการขุดเจาะและขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะขาดข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับแหล่งพลังงานในประเทศต่างๆ ผิดกับสหรัฐที่กิจกรรมด้านขุดเจาะพลังงานดำเนินมายาวนานกว่าศตวรรษ

หมายความว่า จนถึงขณะนี้ สหรัฐและแคนาดายังคงเป็นประเทศหลักที่เก็บเกี่ยวความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจ จากการพัฒนาเรื่องก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานที่ล้ำหน้าประเทศอื่นๆ และการที่ทั้ง 2 ประเทศมีก๊าซธรรมชาติและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอย่างล้นเหลือ มีส่วนดึงดูดให้บริษัทปิโตรเคมีและผู้ผลิตปุ๋ยเข้ามาสร้างโรงงานใหม่ แทนที่จะยกขบวนออกไปตั้งฐานผลิตนอกบ้านอย่างที่ทำมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะรัฐเท็กซัสและนอร์ทดาโกต้าที่ได้อานิสงส์จากแหล่งพลังงานจากหินดินดาน ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้นจากกิจกรรมการขุดเจาะแบบใหม่

ขณะที่โปแลนด์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญในตลาดนี้ กลับต้องผิดหวัง เมื่อพบปริมาณก๊าซไม่มากอย่างที่คาดไว้ บวกับความกังวลของชุมชนเกี่ยวกับการขุดเจาะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎเรื่องภาษีและค่าธรรมเนียม ส่งผลให้ “เอ็กซอน โมบิล คอร์ป” ตัดสินใจโยนผ้าขาวยอมแพ้ในโปแลนด์ หลังจากขุดเจาะก๊าซแค่ 2 หลุม โดยบริษัทให้เหตุผลว่า ไม่พบน้ำมันหรือก๊าซมากพอที่จะเดินหน้าขุดเจาะเพิ่มเติม

จีน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คาดกันว่าน่าจะมีน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดานมหาศาล มากกว่าในสหรัฐเสียอีก แต่ปัญหาอยู่ที่แหล่งก๊าซจากหินดินดานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง หรือไม่ก็มีประชากรหนาแน่น นอกจากนี้ บริษัทน้ำมันยังกังวลว่าอาจไม่มีปริมาณน้ำมากพอที่จะใช้แรงดันน้ำทำให้หินแตกออก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้สารไฮโดรคาร์บอนออกมาจากชั้นหิน

ไซมอน เฮนรี ผู้อำนวยการบริหารของโรยัล ดัตช์ เชลล์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกว่า การจะสร้างแท่นขุดเจาะก๊าซจากหินดินดาน อาจต้องขออนุญาตขุดเจาะพื้นที่บางส่วนของภูเขา หรือไม่ก็บนนาข้าวของใครสักคน

เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา ที่เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งยึดคืนบริษัทของสเปนเป็นของรัฐ ก็ค้นพบแหล่งพลังงานจากหินดินดานขนาดใหญ่ที่น่าจะมีน้ำมันเกือบ 1 พันล้านบาร์เรล แต่กฎระเบียบที่เข้มงวดทำให้นำเข้าเทคโนโลยีที่จำเป็นได้ยาก เช่นเดียวกับการส่งกำไรกลับบ้าน “อาปาเช่ คอร์ป” ที่ได้สิทธิขุดเจาะแหล่งพลังงานจากหินดินดานราว 450,000 เอเคอร์ ระบุว่า อาจจะมีต้นทุนในการขุดเจาะสูงกว่าที่สหรัฐราว 2 เท่า และอาจต้องใช้ต้นทุนในการทำให้หินแตกเพื่อเริ่มการผลิตสูงกว่าราวๆ 2-4 เท่า

ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส บัลแกเรีย ต่างก็ห้ามใช้เทคโนโลยีขุดเจาะด้วยแรงดันน้ำ เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงพับแผนพัฒนาเรื่องนี้เอาไว้ก่อน

“โจเซฟ สแตนิสลอว์” ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพลังงานของดีลอยต์ มองว่า ยังมีโอกาสในการพัฒนาพลังงานจากหินดินดานอีกมาก เมื่ออุตสาหกรรมนี้ก้าวสู่ความจริง และเริ่มต้นจริงจัง พลังงานจากหินดินดานก็จะทะยานขึ้นเหมือนในสหรัฐ แต่ระยะเวลาอาจจะยาวนานกว่าที่หลายคนคาดคิด

เพราะความสำเร็จของสหรัฐเกิดขึ้นจากปัจจัยที่แตกต่าง เทคโนโลยีการขุดเจาะด้วยน้ำแรงดันสูงบุกเบิกโดยบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการเสี่ยง รวมทั้งได้แรงหนุนจากเจ้าของที่ดินที่ถือสิทธิครอบครองแหล่งแร่ และพร้อมจะแลกกับผลกำไร ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐมีเครือข่ายท่อก๊าซและแท่นขุดเจาะจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ดังนั้น การผลิตก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานจึงเป็นโมเดลเฉพาะของสหรัฐ

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในบทเรียนความสำเร็จของสหรัฐ แต่มักถูกมองข้าม คือ การพัฒนาพลังงานจากหินดินดานส่วนใหญ่เป็นก๊าซจากใต้พื้นดิน จึงก่อความกังวลเกี่ยวกับการขุดเจาะในพื้นที่ของเจ้าของที่ดินที่ต้องการผลกำไร แตกต่างกับในประเทศอื่นๆ ที่สิทธิแหล่งแร่เป็นของรัฐ จึงไม่ค่อยจูงใจการขุดเจาะเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ความแตกต่างอีกประการ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งพลังงานจากหินดินดานที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ขุดเจาะแหล่งพลังงานนับหมื่นแห่ง และมีข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ แม้ว่านักธรณีวิทยาอาจจะพอรู้ว่าแหล่งพลังงานจากหินดินดานในประเทศต่างๆ อยู่ที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าสภาพหินแบบไหนที่เหมาะต่อการใช้เทคโนโลยีขุดเจาะด้วยน้ำแรงดันสูง

แต่การลงทุนก็อาจคุ้มค่ากับการเสี่ยง เพราะผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานน่าจะมีอยู่มหาศาล โดยผลการศึกษาของรัฐบาลสหรัฐในปีที่แล้ว ประเมินว่า แหล่งพลังงานจากหินดินดานน่าจะมีอยู่ใน 32 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นปริมาณมากถึง 6.6 พันล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นปริมาณการบริโภคทั้งโลกในขณะนี้ ได้ยาวนานกว่า 50 ปี ขณะที่สหรัฐครอบครอง 862 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือ 13% ของที่ประเมินทั้งหมด

เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้ปริมาณที่มากเพียงพอ ซึ่งทั้งเชฟรอนและบริษัทอื่นๆ ต่างหวังว่าจะสร้างอุตสาหกรรมการกลั่นก๊าซจากหินดินดานในโปแลนด์ได้สำเร็จ และพบก๊าซมากพอที่จะทำให้คุ้มค่ากับต้นทุนการขุดเจาะ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังเผชิญกับแรงต้านจากประชาชน ส่งผลให้กระบวนการออกใบอนุญาตขุดเจาะล่าช้า

“พิออตร์ วอสเนียก” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ของโปแลนด์ บอกว่า กฎหมายพลังงานฉบับใหม่จะจัดสรรเงินชดเชยให้รัฐบาลท้องถิ่นที่มีการดำเนินการขุดเจาะพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านจากคนในท้องถิ่นได้

ขณะที่ “พิออตร์ แดมป์” ชาวบ้านที่เพิ่งขายที่ดิน เล่าว่า ถูกบริษัทกดดันให้ต้องขายที่ไป เพราะก๊าซที่อยู่ใต้ดินเป็นของรัฐ และอาจต้องเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อตั้งแท่นขุดเจาะ แต่หากไม่ยอมขาย กระบวนการก็อาจยาวนานออกไปอีก


ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น