บ่อน้ำมันเพียงบ่อเดียว..สามารถดูดน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติในแนวขวางได้มากกว่า 10 แหล่ง
สำหรับนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่มิได้คร่ำหวอดในวงการพลังงานอย่างผู้เขียน ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ทำให้เกิดความสนเท่ห์สองประการหลัก
ประการแรก ทำไมการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่สาม (QE3) ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่จุดประกายให้เกิดการอัดฉีดและ/หรือลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และทำให้สภาพคล่องล้นโลกและราคาสินทรัพย์อื่น ๆ ทั่วโลกพุ่งกระฉูด กลับไม่ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เหมือนสองครั้งแรกที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบพุ่งขึ้นถึง 49.4% และ 37.8% ตามลำดับ
ประการที่สอง ทำไมราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ที่ซื้อขายในสหรัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถึงต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์และดูไบ (ซื้อขายที่ตลาดลอนดอน) ที่อยู่ที่ประมาณ 105-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงหลัง (ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ราคาทั้งสามล้อกันมาโดยตลอด)
เมื่อสงสัยจึงศึกษา และคำตอบที่ได้พบว่านั่นเกิดจากในสหรัฐอเมริกาได้นำเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแนวขวาง (Horizontal Drilling and Hydraulic Fracturing) โดยใช้อัดฉีดน้ำปริมาณมากผสมกับทรายและสารเคมีบางอย่างเพื่อทำให้ชั้นหินดินดาน (Shale) แตกออก เพื่อที่จะดูดก๊าซและ/หรือน้ำมัน (Shale Gas/ Shale Oil) ออกมา (ส่วนใหญ่เป็นก๊าซ)
การขุดเจาะดังกล่าวแม้มีต้นทุนที่สูงกว่าการขุดเจาะแบบปกติ (แนวดิ่ง) แต่ก็สามารถขุดเจาะน้ำมันและ/หรือก๊าซธรรมชาติออกมาได้มาก (ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง) เนื่องจากธรรมชาติของแหล่งน้ำมันจะวางตัวในแนวขวางเป็นหลัก ดังนั้นบ่อน้ำมันเพียงบ่อเดียวก็สามารถดูดน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติในแนวขวางได้มากกว่า 10 แหล่งด้วยกัน
คำถามที่ตามมาคือ เทคนิคใหม่นี้จะเป็นความหวังของตลาดพลังงานโลกได้มากน้อยเพียงใด โอกาสที่ประเทศอื่นๆ จะทำตามสหรัฐมีมากน้อยเพียงใด และความเสี่ยงของ Hydraulic Fracturing คืออะไร นอกจากนั้น คำถามสำคัญที่สุดคือ Shale Gas/ Shale Oil จะทำให้ตลาดพลังงานโลก รวมถึงภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปเช่นไร
การจะตอบคำถามดังกล่าวได้ จะต้องเข้าใจโครงสร้างการใช้พลังงานโลกก่อน โดยในปัจจุบัน โลกพึ่งพาพลังงานจากสามแหล่งหลัก ได้แก่ น้ำมัน (ประมาณ 33%) ถ่านหิน (30%) และก๊าซธรรมชาติ (21%) ที่เหลือคือสามแหล่งเสริม ได้แก่ พลังน้ำ นิวเคลียร์ และพลังงานทดแทน (รวมประมาณ 16%)
จากการประมาณการของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าหากการพัฒนาการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ยังคงระดับเดิม จะทำให้โครงสร้างพลังงานโลกเปลี่ยนไป โดยหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเป็น 25% ขณะที่การใช้น้ำมันและถ่านหินจะลดลงมาอยู่ระดับเดียวกัน
เมื่อพิจารณาจากสหรัฐ Hydraulic Fracturing จะทำให้สหรัฐมีความเป็นอิสระเชิงพลังงานในอีก 20 ปี จากปัจจุบันต้องนำเข้ากว่า 50% ของการบริโภคน้ำมันรวม (19 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดยทั้งการผลิต Shale Gas และ Shale Oil จะเพิ่มขึ้นถึง 25% และ 300% ในปี 2020 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น จะทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกแทนที่ซาอุดีอาระเบีย (จนมีการขนานนามว่าสหรัฐว่าจะเป็น “ซาอุดีอเมริกา”)
แต่ในระยะใกล้ สหรัฐก็ยังไม่สามารถดีใจจนเกินเหตุได้ เพราะการผลิต Shale Gas และ Shale Oil เป็นเพียงประมาณ 25% และ 10% ของการผลิตรวมในประเทศเท่านั้น (เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง) แต่เพราะตลาดน้ำมันเป็นตลาดที่ตึงตัวมาก ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน) ก็ทำให้ราคาน้ำมัน WTI ลดลงมาก
แต่การผลิต Shale Gas ที่เพิ่มขึ้นมากก็มีข้อเสีย (ต่อผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ) เพราะทำให้ราคาก๊าซในประเทศลดลงมาก แต่ไม่สามารถส่งออกขายยังประเทศอื่น ๆ ได้มากนัก เนื่องจากธรรมชาติของก๊าซที่เป็นสสารเบา จึงต้องขนส่งในรูปแบบของเหลว (Liquid Natural Gas) ผ่านจุดเยือกแข็งที่ -162 องศาเซลเซียส จึงยากต่อการขนส่งระหว่างประเทศ
นั่นทำให้ราคาก๊าซในสหรัฐลดลงเหลือประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาของก๊าซในเอเชีย (รวมทั้งไทย) ที่ไม่มีการผลิต Shale Gas สูงถึง 15-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีการทำสัญญาระยะยาวที่ผูกติดกับราคาน้ำมัน (ต่างจากสหรัฐที่ขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานของก๊าซ)
ส่วนในกรณีของ Shale Oil นั้น แม้จะทำให้สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น แต่กฎหมายสหรัฐห้ามผู้ผลิตส่งน้ำมันดิบออกขายระหว่างประเทศ (ต้องแปรรูปก่อน) ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบ WTI จึงถูกกว่าราคาน้ำมันดิบอื่นๆ
ถ้าเช่นนั้น ประเทศอื่นๆ จะเลียนแบบสหรัฐในการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing เพื่อให้ได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาถูกได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ในระยะสั้น เพราะแม้ว่าในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกจะมีแหล่ง Shale Gas/Oil ที่มากกว่าสหรัฐ (เช่น จีน ยุโรป และ ละตินอเมริกา ที่มีประมาณ 1-1.5 เท่าของสหรัฐ) แต่การขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ในประเทศเหล่านั้นเผชิญปัจจัยลบสองประการ
ประการแรกคือ ประเด็นด้านความเป็นเจ้าของและการใช้สอยที่ดิน โดยในสหรัฐ แหล่งขุดเจาะส่วนใหญ่จะเป็นไร่นาที่เจ้าของอนุญาตให้ขุดเจาะได้เพราะได้รับผลตอบแทนจากการอนุญาตให้ขุดเจาะ แต่ในประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งชุมชน และ/หรือ ผู้อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเจ้าของ จึงไม่ได้ผลตอบแทนจากการขุดเจาะ
ประการสอง ได้แก่ ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการปนเปื้อนของน้ำบาดาล (เพราะการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ต้องใช้น้ำและสารเคมีเป็นจำนวนมาก) และการพังทลายของชั้นหินทำให้เกิดความกังวลเรื่องแผ่นดินไหวและโอกาสที่ก๊าซจะรั่วไหล (งานวิจัยหลายที่ระบุว่าหากมีการบริหารจัดการดี ก็จะสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ แต่ประชาชนในหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปก็ยังคงกังวลอยู่ดี)
ปัจจัยลบทั้งสองทำให้การผลิต Shale Gas/Oil ยังคงจำกัดอยู่ในสหรัฐอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสหรัฐ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิต/การขนส่งถูกลง ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง ทำให้ดุลการค้า/บัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง รวมถึงทำให้เงินเฟ้อไม่สูงมากและทำให้มีแนวโน้มที่ราคาโภคภัณฑ์อื่นๆ ไม่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อสหรัฐแต่เป็นผลลบประเทศต่อผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันอย่างกลุ่มโอเปค
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าในระยะสั้น ราคาน้ำมันดิบจะไม่สูงขึ้นมาก แม้จะไม่ถูกลงอย่างฮวบฮาบก็ตาม (เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีต้นทุนสูง รวมถึงประเทศอื่นยังไม่ให้การยอมรับเต็มที่) ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติในสหรัฐจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของสหรัฐถูกลง และในระยะยาวการพัฒนาการผลิตแบบ Hydraulic Fracturing จะทำให้มีพลังงานจาก Shale Gas/Oil ใช้ได้อีกนาน
เตรียมใจไว้เลยว่า การเกิดขึ้นของ Hydraulic Fracturing จะเปลี่ยนโลกทัศน์ของตลาดพลังงานโลก รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจการเงินโลกในอนาคต นักธุรกิจ/นักลงทุนและผู้กำกับนโยบาย จะต้องเตรียมตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น