วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การทำน้ำหวานหมักจากพืช

การทำน้ำหวานหมักจากพืช
(Fermented Plant Juice:FPJ)

การทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว

พืชสดสีเขียว หมายถึง พืชสีเขียวทุกชนิดที่กินได้

น้ำหวานจากพืช หมายถึง น้ำเลี้ยงของพืชที่อยู่ในท่อส่งอาหารของพืช น้ำหวานของพืชใดก็จะเป็นอาหารธรรมชาติที่ดีที่สุดของพืชชนิดนั้น เช่นน้ำหวานจากข้าวโพดก็จะให้ธาตุอาหารที่ดีที่สุดสำหรับต้นข้าวโพด หรือน้ำหวานหมักจากอ้อยก็จะให้ธาตุอาหารที่ดีที่สุดสำหรับต้นอ้อย

แต่จะมีพืชบางชนิดที่ให้ธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืชอื่นๆ โดยทั่วไปได้ดี เช่นผักบุ้ง หยวกกล้วย หน่อไม้ เป็นต้น พืชที่ดีคือพืชที่มีช่วงความยาวระหว่างข้อภายในกิ่งยาว และควรเป็นพืชโตเร็ว เพราะพืชที่โตเร็วมีพลังธรรมชาติที่จะสร้างพลังชีวิตได้มากและเร็ว

น้ำหวานจากพืชนี้เป็นทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ ที่ประเมินค่ามิได้สำหรับเกษตรกร เพราะไม่ต้องซื้อหาหรือนำเข้าปุ๋ยหรือสารบำรุงพืชใดๆ เนื่องจากน้ำหวานจากพืชเป็นอาหารที่ดีที่สุดของพืชอยู่แล้ว ทั้งยังไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม เป็นผลดีต่อสุขภาพผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่สำคัญคือให้ผลผลิตสูงมาก ถ้าเกษตรกรมีกระบวนการหมักที่ถูกต้อง และใช้ถูกต้องตามช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืช

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว

1. พืชสดสีเขียว

2. น้ำตาลทรายแดง (น้ำตาลผง ไม่ฟอกสี เคี่ยวจากน้ำอ้อยสดหรือน้ำสดจากจั่นตาล จนแห้งเป็นผง) น้ำหนัก ครึ่งหนึ่งของพืชที่หั่นแล้ว

3. ไหดินเผาเคลือบ หรือ โถแก้วทึบแสง ล้างสะอาด แห้งสนิท

4. ผ้าพลาสติก (ถ้ามี ใช้ปูรองเวลาหั่นพืช เพื่อป้องกันการปนเปื้อน)

5. มีดสำหรับหั่น

6. เขียงสำหรับหั่น

7. ตาชั่ง

8. อ่างคลุกพืช

9. กระดาษสะอาดสำหรับปิดปากไห

10. เชือกสำหรับมัดปากไห

11. หินล้างสะอาด ขนาดปากไห หรือ ถุงพลาสติกสำหรับใส่น้ำ เป็นน้ำหนักทับปากไห

12. ยางสำหรับรัดถุงพลาสติกที่ใส่น้ำเป็นน้ำหนักทับปากไห

ขั้นตอนในการทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว

คุณ ฮาน คิว โช จากสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี (Korean Natural Farming Association) ย้ำนักย้ำหนาว่า พลังงานที่ออกจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะทางกาย วาจา ทางใจ หรือทางอารมณ์ ความรู้สึก ย่อมจะถ่ายทอดเป็นคลื่นไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่น ต้นไม้กิ่งไม้ก็จะรับพลังงานร้อน เย็น จากจิตใจคนเราได้ ดังนั้น ก่อนที่จะทำอะไรกับพืช เราควรรักษาใจ รักษาอารมณ์ให้ผ่องใส เยือกเย็นนุ่มนวล ถ้ากำลังอารมณ์ไม่ดีอย่าไปยุ่งกับพืช เพราะพืชต้องการรับและถ่ายทอดพลังเย็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อดินและการเจริญเติบโตของมันด้วย

1. ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยวพืชที่ต้องการทำน้ำหวานหมัก คือก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ไม่ต้องล้างเพราะไม่ต้องการให้จุลินทรีย์ที่อยู่บนใบพืชถูกชะล้างออกไป ถ้าเปียกฝนผึ่งในร่มให้หมาดก่อน เปียกน้ำค้างไม่เป็นไร เพราะน้ำค้างเป็นน้ำสำหรับราใบไม้สีขาวที่เราต้องการนำมาเพาะเลี้ยง และน้ำค้างจะมีธาตุอาหารที่ดีสำหรับพืชพืชด้วย ที่ใบพืชจะมีน้ำหวานของพืชซึมติดอยู่ที่ปลายท่ออาหาร โดยธรรมชาติ ราใบไม้สีขาวจะไปเกาะกินน้ำเลี้ยงที่ซึมอยู่บนใบไม้ จากกระบวนการนี้ เราจะได้ราใบไม้สีขาวเป็นผลพลอยได้อยู่ในน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียวของเรา

2. ก่อนหยิบมีดตัดพืช ตั้งสติให้สงบ ตั้งใจให้สะอาดผ่องใส ตัดพืชเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 3 - 5 ซ.ม.

สำหรับหยวก ตัดมาใช้ทั้งต้น ตัดให้สูงกว่าพื้นดินประมาณ 30 ซ.ม. ไม่ต้องลอกกาบ เพียงแต่เฉือนกาบที่แห้ง หรือกาบที่เน่าเสียออกทิ้ง และแน่นอนไม่ต้องล้าง ระหว่างที่วางพักไว้ก่อนหั่น วางลำต้นในแนวราบ ในที่สะอาด อย่าตั้งลำต้น เพราะเราจะสูญเสียน้ำหวานในลำต้นซึ่งจะไหลออกมา

วิธีหั่นหยวก ซอยโคนให้เป็นแฉก ๆ กว้างประมาณ 1.5 ซ.ม. แล้วหั่นเฉียงตามขวางอีกครั้ง ให้หยวกแต่ละชิ้นยาวประมาณ 3 - 4 ซ.ม. การหั่นหน่อไม้ก็เช่นเดียวกัน อย่าลืมว่าไม่ต้องล้างพืชก่อนหั่น

3. ชั่งน้ำหนักพืชที่ตัดแล้วเพื่อกำหนดสัดส่วนของน้ำตาลทรายแดงที่จะใช้ผสม ในการทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว เราจะใช้น้ำตาลครึ่งหนึ่งของน้ำหนักพืชสด ในระยะต้นที่เรายังกะประมาณไม่เป็นเพราะยังขาดประสบการณ์ ควรชั่งเพื่อความถูกต้องแน่นอน เมื่อเราชำนาญแล้วก็ประมาณเอาได้ แบ่งน้ำตาลออกเป็น 6 แยก 2 ส่วน ออกเก็บไว้ปิดหน้าพืช อีก 2 ส่วน ใช้คลุกอ่างแรก อีก 2 ส่วน ใช้คลุกอ่างที่สอง การแบ่งคลุก 2 อ่าง ก็เพื่อให้พืชทุกส่วนมีโอกาสถ่ายเทน้ำหวานได้เต็มที่ และในระหว่างคลุกเคล้าพืชกับน้ำตาล จะเป็นโอกาสให้ราใบไม้สีขาวในอากาศเข้ามาเพิ่มด้วย (แน่นอนว่า ถ้าบริเวณที่ทำการหั่น การคลุกเคล้าไม่สะอาด ก็จะมีจุลินทรีย์อื่น ๆ เข้าไปปนเปื้อนด้วยมาก ถ้าทำใต้ต้นไม้ใหญ่ได้จะดีที่สุด)

4. ถ้าเรามีเกลือสินเธาว์ คือ เกลือจากดิน ไม่ใช่เกลือจากทะเล เราจะใช้เกลือสินเธาว์ผสมในส่วนของน้ำตาลได้ ในสัดส่วนเดิม คือ ให้เกลือผสมน้ำตาลมีน้ำหนักเท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำหนักพืช เช่น พืช 6 กิโลกรัม ปกติต้องใช้น้ำตาล 3 กิโลกรัม ถ้าเป็นเกลือผสมนำตาล ก็ต้องเป็น 3 กิโลกรัมเหมือนกัน ควรใช้เกลือน้อยกว่าน้ำตาล จึงเป็นน้ำตาล 2 กิโลกรัม และเกลือ 1 กิโลกรัม เกลือสินเธาว์มีธาตุอาหารสำหรับพืชมาก จะทำให้น้ำหวานหมักของเรา มีธาตุอาหารสำหรับพืชเพิ่มขึ้น และน้ำหวานก็จะมีมากขึ้น

5. แบ่งพืชที่หั่นและช่างแล้วออกเป็น 2 ส่วน เอาพืชส่วนที่หนึ่งใส่อ่างโรยน้ำตาลทรายแดงผงลงบนพืช ครั้งแรกไม่ต้องมากนัก แล้วใช้มือทั้งสองกอบพลิกพืช โรยน้ำตาลไปเรื่อย ๆ คลุกเคล้ากับน้ำตาลผงที่โรยให้เข้ากัน จนน้ำตาลหมด ในระหว่างการคลุก ควรระมัดระวัง ทะนุถนอม อย่าให้พืชช้ำ ทุกอย่างต้องเบามือ แล้วค่อย ๆ เอามือทั้งสองกอบพืชใส่ไหที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้เรียบเสมอ ใช้ปลายนิ้ว 4 นิ้ว ทั้ง 2 มือ กดเบา ๆ ให้ทุกกอบที่ใส่ลงไปแน่น อย่าให้มีช่องอากาศ ระหว่างเศษพืช

มีเคล็ดจากผู้มีประสบการณ์ท่านหนึ่งบอกว่า เวลาเคล้านั้นถ้าพลิกพืชและเคลื่อนมือทวนเข็มนาฬิกาไปเรื่อย ๆ จะเกิดความเย็นขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกได้แม้เมื่อเอามือแตะนอกอ่าง ใบและกิ่งก้านพืชจะมันเหมือนเคลือบน้ำมันและน้ำหวานจะออกมากทีเดียว ลองทำแล้วได้ผลจริง

6. ขั้นต่อไป โรยน้ำตาลผงกองที่สองลงบนพืชส่วนที่เหลือในอ่างใบที่สอง ถ้าน้ำตาลเป็นก้อนควรบี้ให้แหลก มักพืชส่วนที่สองที่คลุกเคล้าน้ำตาลแล้วนี้ ทิ้งไว้ในอ่าง 2 ชั่วโมง เอากระดาษสะอาดปิดคลุมปากอ่างไว้ อย่าให้แมลงวันตอม (การนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับหยวกกล้วยเพราะน้ำหวานมักจะออกมามากกว่าพืชอื่น ๆ)

7. หลังจากทิ้งช่วงเวลา ตามข้อ 7 แล้ว ค่อย ๆ กอบพืชจากอ่างคลุกเติมในไห ทับบนส่วนแรกที่ใส่ไหไว้แล้ว กดพืชให้แน่นไปเรื่อย ๆ ด้วยปลายนิ้วทั้ง 4 ของทั้งสองมือพร้อมกัน จนพืชหมดอ่างใส่น้ำตาลที่เหลือปิดหน้าพืชให้ทึบ

เอาผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดปากไห ขอบไห ภายนอกตัวไห รวมทั้งก้นไห อย่าให้มีคราบน้ำตาลติดเพราะมดจะขึ้น ใช้กระดาษสะอาดปิดปากไหทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง ในระหว่าง 3 ชั่วโมงนี้พืชจะยุบตัวโดยธรรมชาติ

ถ้าน้ำหวานออกมากและพืชยุบตัวลงเหลือประมาณ 2/3 ของไหแล้ว เอากระดาษสะอาดปิดปากไห และผูกเชือกได้เลย

8. สำหรับพืชที่น้ำออกน้อย ควรเอาถุงพลาสติกใส่น้ำ ผูกปากให้แน่น (ระวังอย่าให้น้ำซึม รั่ว หรือ ไหลออกมาเป็นอันขาด ใช้หินแห้งสะอาดจะปลอดภัยกว่า) วางทับหน้าพืชเป็นน้ำหนักอีก ทำความสะอาดภายนอกไหอีกครั้งให้หมดน้ำตาล ทิ้งไว้ 1 คืน จึงเอาน้ำหนักที่ทับไว้ออก

9. พืชเขียวต้องอยู่ประมาณ 2 / 3 ของไห ต้องมีที่ว่างประมาณ 1 / 3 ที่ปากไห เพื่อให้จุลินทรีย์หายใจ เอากระดาษสะอาดปิดปากไห ( ควรใช้กระดาษเกลี้ยง ไม่เปื้อนสีเปื้อนหมึก )ก่อนจะผูกปากไห ต้องจัดกระดาษที่จะปิดปากให้ตึงเรียบ แล้วเอายางหรือเชือกรัดปากไห เขียนชื่อพืช วันเวลาที่ทำปิดไว้กันลืม สำหรับชาวบ้านที่หากระดาษได้ยาก ควรจะขอกระดาษสมุดจากลูก หลาน เลือกหน้าคู่ที่ยังไม่ได้เขียนอะไร

10. ไหที่ใส่พืชสำหรับหมักแล้ว ต้องวางไว้ในร่ม ภายในหลังคา อย่าให้ถูกฝน ถ้าใช้โถแก้วใส ต้องหาผ้าหรือกระดาษหุ้มปิดรอบนอกให้ทึบ อย่าให้แสงเข้าได้

11. พืชส่วนใหญ่จะใช้เวลา 10 - 14 วัน เพื่อเกิดการหมักที่สมบูรณ์ ช่วง 4 - 5 วันแรกจะเป็นเพียงน้ำหวาน การหมักยังไม่สมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์แล้วจะมีกลิ่นหอมหวาน และพืชจะกลายเป็นสีเหลืองจาง ๆ เพราะธาตุสีเขียว (คลอโรฟีลล์) ถ่ายเทออกมาอยู่ในของเหลวแล้ว

12. เมื่อได้ที่เปิดกระดาษที่ปิดไว้ออก ใช้สายยางปั๊มด้วยมือ ดูดน้ำหวานหมักออกใส่ขวดแก้วสีทึบไว้ ปิดฝา ห้ามใส่ในภาชนะที่เป็นโลหะ หรือขวดพลาสติก เพราะจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ไม่พึงปรารถนา ปริมาณน้ำหวานหมักที่ใส่ในขวดก็เหมือนเดิม คือ 2 / 3 ของขวด เพื่อมีที่ให้จุลินทรีย์หายใจ ถ้าไม่มีตู้เย็น ให้เก็บไว้ในที่ร่ม เทแบ่งจากขวดใช้ตามต้องการจนหมด ถ้ากลิ่นเปลี่ยนเป็นกลิ่นเปรี้ยวหรือแอลกอฮอล์ ให้เติมน้ำตาลลงไป 1 / 3 ของปริมาณน้ำหมักที่เหลือ เป็นอาหารจุลินทรีย์ แต่ละครั้งไม่ควรทำไว้เกินความต้องการใช้มากนัก ถ้าเกิดกลิ่น เหม็น บูด เน่า เสีย หรือกลิ่นอื่น นอกจากกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้งจาง ๆ แล้ว ไม่ควรใช้อีก ควรเททิ้งเสีย ใช้ของใหม่ดีกว่า

น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว ตามกระบวนการหมักดังกล่าวมาแล้วนี้ ความเข้มข้นมาก ก่อนใช้ต้องผสมน้ำ 1 : 500 ส่วน อย่าลืมนะคะเคยมาแล้ว ผสมข้นไปผักพับไปคาตาทีเดียว ไม่เชื่อก็ลองดูจะว่าไม่เตือน น้ำหมักนี้นี้รดพืชผักได้ เป็นอาหารโดยตรงของพืช

โดยหลักแล้วจะใช้ประโยชน์จากพืช 3 ตระกูล คือ ตระกูลหญ้า ตระกูลถั่ว และตระกูลผัก ซึ่งจะให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมตามความต้องการของพืชทุกชนิด ในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต น้ำหวานตัวกลางนี้สำหรับประเทศไทย คุณโชแนะนำให้ใช้ ผักบุ้ง หยวกกล้วยทั้งต้น และหน่อไม้ทั้งหน่อ ไม่ลอกกาบ นอกจากนี้น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว ยังเป็นส่วนประกอบในการทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์อีกด้วย (หัวเชื้อนี้ ไม่เปลืองเวลา และแรงงาน อย่างที่เกษตรกรเคยทำปุ๋ยหมักมา และคุณภาพดีกว่าด้วย เพราะเป็นของสด สะอาด เนื่องจากนำทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ ใช้ครั้งเดียวก็เพียงพออย่างยั่งยืน แต่มีเงื่อนไขว่าเกษตรกรต้องปลูกต้นไม้ใหญ่รอบพื้นที่ เช่น สะเดา ขี้เหล็ก มะรุม ไผ่ (ไม้อะไรก็ได้ ที่แข็งแรง โตเร็ว เลี้ยงตัวเองได้ ควรเป็นไม้ท้องถิ่นที่เราจะไม่ต้องเสียเวลาแรงงานในการดูแลรักษา) เพื่อสร้างผู้ผลิตให้ระบบนิเวศ และใช้ต้นไม้เป็นโรงงานปุ๋ยธรรมชาติ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในธรรมชาติ เพื่อสรร้างความสมดุลและความหลากหลายในระบบนิเวศ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนว่า น้ำหวานหมักจากผลไม้นี้ ไม่ใช่น้ำผลไม้ที่คั้นจากผลไม้ ไม่ใช้เศษผลไม้จากการสับไม่ว่าเนื้อหรือเปลือก อย่าเผลอไปปอกเข้าเชียว

น้ำหวานหมักจากผลไม้ตามกระบวนการนี้ ใช้ผลไม้สุก หวาน ทั้งลูก ทั้งเปลือก ไม่ล้าง แม้เวลาตัดจากขั้ว ถ้าเฉือนเอาเปลือกออกไปหน่อย หรือ ถูกเนื้อเข้าไปนิด ก็ใช้ไม่ได้ เพราะจุลินทรีย์ตัวอื่นที่ไม่พึงปรารถนาจะเข้ามาปนเปื้อน แซกแซง ให้เราเสียเวลาเลี้ยงมันเปล่า ๆ จุลินทรีย์ที่เราต้องการเลี้ยงคือ ราใบไม้สีขาวเท่านั้น

อุปกรณ์ เหมือนกับพืชสดสีเขียว แต่สัดส่วนระหว่างน้ำตาลอ้อยผงกับผลไม้ คือ 1 : 1

วิธีการ

1. ผลไม้สุก หวาน (อย่าให้มีรอยดำ ช้ำ) ใช้ทั้งผล ไม่ต้องล้าง ไม่ต้องปอกเปลือก ถ้าผลใหญ่เช่น ขนุน ฝานตามขวางทั้งเปลือก ความหนาไม่เกินแว่นละ 3 ซ.ม. เลือกชิ้นแรกลงให้พอดีก้นไห 1 ชิ้น ถ้าเป็นผลไม้ลูกเล็กเช่นกล้วย เรียงผลไม้ให้แน่นเต็มพื้นที่ก้นไห

2. โรยน้ำตาลทรายแดง หรือที่ชาวบ้านบางกลุ่มเรียกว่าน้ำอ้อยผง กลบหน้าผลไม้ให้เต็มเป็นชั้น

3. วางผลไม้ที่ฝานเป็นวงแว่นหรือผลไม้ลูกเล็ก ใส่ให้เต็มพื้นที่นอนราบอีกชั้นหนึ่ง โรยน้ำตาลทรายแดงกลบหน้าผลไม้ชั้นใหม่ให้เต็มอีก

4. ทำไปเรื่อย ๆ จนเรียงผลไม้ได้ 2 / 3 ของไห ใช้น้ำตาลปิดหน้าผลไม้ปากไหให้หนาทึบเพื่อป้องกันอากาศ ไม่ต้องทิ้งให้ยุบตัวเหมือนกับพืชสดสีเขียว

5. เอากระดาษสะอาดปิดคลุมปากไห ขึงให้ตึง เอาเชือกผูกให้แน่น เมื่อการหมักได้ที่สมบูรณ์ จะมีกลิ่นหอมหวาน และจะเห็นว่า ผลไม้เหี่ยว ๆ ๆ ลอยขึ้นมา หรือถ้าการหมักสมบูรณ์แล้ว จะเห็นเพียงของเหลวข้นเป็นก้อน ๆ อยู่ก้นไห

น้ำหวานหมักจากผลไม้นี้ ใช้ฉีดบำรุงเพิ่มอาหารให้พืช อย่าลืมนะคะเตือนแล้ว ต้องผสมน้ำ 1 : 500 เพื่อให้เจือจาง นอกจากนี้ ยังใช้ประกอบการทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์ และใช้เป็นน้ำหวานล่อแมลงที่จะทำอันตรายพืชได้ด้วย

ขั้นตอน การทำดินจุลินทรีย์หมัก ( ไอ เอ็ม โอ ) มี 4 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ

1. ขั้นตอนในการเก็บเชื้อราใบไม้ ( Leaf Mold ) ในพื้นที่
2. ขั้นตอนในการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมัก ( ไอ เอ็ม โอ )
3. ขั้นตอนในการทำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก ( หัวเชื้อดิน ไอ เอ็ม โอ )
4. ขั้นตอนในการทำดินจุลินทรีย์หมัก (ดินไอ เอ็ม โอ)

การทำดินจุลินทรีย์หมัก / ขั้นตอนที่ 1 การเก็บเชื้อราใบไม้สีขาว ทำได้ 3 แบบวิธี

การทำดินจุลินทรีย์หมัก / การเก็บเชื้อราใบไม้สีขาว / แบบวิธีที่ 1 เก็บเชื้อราใบไม้ในพื้นที่ จากกองใบไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ ด้วยการใช้ข้าวสุกล่อ

อุปกรณ์

1. กล่องสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 10 ซ.ม. เป็นกล่องไม้ได้จะดีมาก
2. ข้าวเจ้าขัดขาวหุงสุก ค่อยข้างแห้ง ( ไม่ใช้ข้าวเปียกหรือแฉะ )
3. กระดาษสะอาดสำหรับคลุมกล่อง
4. เชือกผูกกระดาษปิดปากกล่อง
5. ผ้าพลาสติกสำหรับคลุมกองใบไม้กันฝน
6. ก้อนหินทับผ้าพลาสติก
7. ตาข่ายลาดคลุมกองใบไม้กันหนู (ถ้ามี )
8. ทัพพีตักข้าว

วิธีการ

1. ใช้ทัพพีซุยข้าวให้ร่วน อย่าให้เป็นก้อน อย่าให้มือถูกข้าว

2. ใช้ทัพพีตักข้าว (ห้ามใช้มือเป็นอันขาด) เกลี่ยหลวมๆ ให้หน้าข้าวเรียบอย่าให้มีหลุมมีบ่อ (ราดำจะมาแซกแซง) ใส่ข้าวให้สูงประมาณ 2/3 ของกล่อง ต้องเหลือที่สำหรับอากาศให้จุลินทรีย์หายใจ อย่ากดข้าวจนแน่น ราใบไม้สีขาวของเราจะหายใจไม่ออกและจะตาย

3. เอากระดาษสะอาด ขึงให้ตึง คลุมปากกล่อง

4. เอาเชือกมัดกระดาษปิดปากกล่อง

5. นำกล่องข้าวไปที่โคนต้นไม้ที่มีราใบไม้สีขาวอาศัยอยู่ในกองใบไม้ จะมีมากใต้กอไผ่ เลือกต้นไม้ที่ห่างไกลจากความสกปรก เศษขยะ เศษอาหาร มูลสัตว์ หรือ มลพิษทั้งหลาย

6. แหวกกองใบไม้ ลึกประมาณ 2 / 3 ของกล่อง เมื่อวางกล่องลงแล้ว ให้ส่วนบนของกล่องโผล่ขึ้นเหนือกองใบไม้ประมาณ 1 / 3

7. กอบใบไม้คลุมกล่องข้าวสุก

8. เอาผ้าพลาสติกคลุมกองใบไม้ทั้งกองกันน้ำและฝน ใช้ก้อนหินทับชายผ้าทั้ง 4 มุม

9. โกยใบไม้คลุมทับผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง

10. ใช้ลาดตาข่ายคลุมทับเพื่อป้องกันหนู

11. ทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อได้ที่ จะเห็นใยราสีขาวขึ้นฟูอยู่เต็มหน้าข้าว ถ้าเกิน 3 วัน จะมี

จุลินทรีย์อื่น ๆ มาแซกแซงปนเปื้อน ใช้ไม่ได้

วิธีเก็บราใบไม้ตามขั้นตอนที่กล่าวมานั้น อาจจะจำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมบางแห่ง ถ้าสภาพดีเชื้อราอุดม อาจจะไม่จำเป็นต้องกอบใบไม้คลุมกล่อง หรืออาจจะข้ามขั้นตอนบางขั้นได้ จะให้ดีควรทดลองทำหลาย ๆ รูปแบบ และศึกษาวิธีที่ดีที่สุดของเราเอง ภายในพื้นที่ของเราในสภาวะอากาศและฤดูกาลต่าง ๆ กัน ใต้ต้นไม้หลาย ๆ ต้น ให้กระจายในส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่

การศึกษาควรเตรียมข้าวไว้หลาย ๆ กล่องในแต่ละครั้ง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ และคัดเลือกเอากล่องที่ดีที่สุดมาใช้ทำหัวเชื้อ

การทำดินจุลินทรีย์หมัก / การเก็บเชื้อราใบไม้สีขาว / แบบวิธีที่ 2 เก็บเชื้อราใบไม้จากกอข้าว หลังการเก็บเกี่ยว

วิธีการ

1. นำกล่องข้าวสุก ( ดูวิธีการตามแบบที่ 1 ) เข้าไปในท้องนา
2. คว่ำกล่องข้าวลงครอบตอซังข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยว
3. เอาผ้าพลาสติกคลุมกล่องข้าว เอาหินทับให้มั่น
4. เอาลวดตาข่ายคลุมผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันหนู
5. ทิ้งไว้ 2 - 3 วัน เราจะได้น้ำหวานจากต้นข้าวพร้อม ๆ กับราใบไม้สีขาวในกอข้าว

การทำดินจุลินทรีย์หมัก / การเก็บเชื้อราใบไม้สีขาว / แบบวิธีที่ 3 เก็บเชื้อราใบไม้สีขาวจากใบไม้แห้งที่มีราใบไม้อาศัยอยู่

วิธีการ

1. สำรวจดูในกองใบไม้ ใต้ต้นไม้ใหญ่ ในป่าใกล้ ๆ บ้าน

2. เก็บใบไม้จากกองที่มีเชื้อราใบไม้สีขาว ประมาณ 4 - 5 ถ้วย

การเก็บเชื้อราใบไม้ตามแบบวิธีนี้ บางครั้งเราพบอุปสรรคมากจากฝน จากน้ำค้าง จากฉี่ หรือการคุ้ยเขี่ยของหนู เมื่อมีน้ำหรือความชุ่มชื้นมากเกินไป ราใบไม้สีขาวจะตาย ผลที่ได้คือ ขุยฟูสีเทา ๆ ดำ ๆ ไม่มีขุยฟูสีขาวให้เราชื่นชมเลย

เพื่อป้องกันการรุกราน มีคนหัวใสโกยใบไม้แห้งที่มีราใบไม้สีขาว สวยอาศัยอยู่ เช่น จากกองใบไม้ใต้กอไผ่ โกยมาใส่อ่างก้นลึกไม่เกิน 15 นิ้วก่อนที่จะเอากล่องข้าวที่เตรียมไว้ใส่ ต้องแหวกใบไม้ตรงกลางอ่างออกไปไว้ข้าง ๆ เอากล่องข้าวใส่ตรงที่แหวกไว้ แล้วเอาใบไม้ที่แหวกออกคลุมทับกล่องข้าวอีกที เอาอ่างไปวางไว้ในที่ร่มในบ้านอย่าให้ถูกแดด ป้องกันอย่าให้สัตว์เลี้ยงหรือเด็กไปฉี่รด จะได้ราใบไม้สีขาวที่ขาวสะอาด คุณภาพดีเยี่ยม

การทำดินจุลินทรีย์หมัก / ขั้นตอนที่ 2 การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมัก จากราใบไม้สีขาว

อุปกรณ์

1. เชื้อราใบไม้สีขาว เก็บจากขั้นตอนที่ 1

2. น้ำตาลทรายแดง ( น้ำตาลธรรมชาติผงไม่ฟอกสี ) เช่น จากน้ำอ้อย

3. น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว และ / หรือน้ำหวานหมักจากผลไม้

วิธีการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมัก IMO จากข้าวสุก หรือ จากใบไม้ที่มีเชื้อราใบไม้สีขาวอยู่

1. การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมักจากเชื้อราใบไม้ ที่เก็บด้วยข้าวสุก

(1.1) นำข้าวสุกที่มีเชื้อราใบไม้สีขาว มาขยำกับน้ำตาลทรายแดงในไหดินเผาเคลือบ หรือขวดแก้วสีทึบปากกว้าง ถ้าเป็นแก้วใส ใช้ผ้าหรือกระดาษหุ้มคลุมอย่าให้แสงเข้า ใช้น้ำตาลหนัก 1 / 3 ของน้ำหนักข้าว

(1.2) เอากระดาษสะอาดปิด หมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ จะได้ของเหลวข้นสีแดงซึ่งมีจุลินทรีย์กลุ่มราใบไม้สีขาวเติบโตอยู่

2. การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมักจากเชื้อราใบไม้สีขาว ที่เก็บจากใบไม้ในป่า

(2.1) ใช้น้ำอุ่น 2 ลิตร (ต้องเป็นน้ำต้มเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ไม่ใช่น้ำร้อนผสมน้ำเย็นจนอุ่น) ผสมกับน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว และ /หรือน้ำหวานหมักจากผลไม้ความเข้มข้น 1 : 500

(2.2) ผสมข้าวสุกหนึ่งถ้วยลงไปในน้ำ ในข้อ 1 ใช้ไม้สะอาดคนให้เข้ากัน

(2.3) ใส่ใบไม้ที่มีราใบไม้สีขาวที่เก็บมา 4 - 5 ถ้วยลงไป

(2.4) ใช้ไม้ ( ห้ามใช้มือเด็ดขาด ) คนให้เข้ากันทิ้งไว้ 1 วัน

หัวเชื้อนี้เก็บไว้ได้นาน โดยการใช้น้ำตาลทรายแดงผงแห้ง น้ำหนักเท่ากับของเหลวหัวเชื้อโรยปิดหน้าให้ทึบ เพื่อหยุดการทำงานของจุลินทรีย์ เก็บไว้ในภาชนะทึบแสง เช่น ไหดินเผา วางไว้ในที่ร่มเย็น อย่าให้ถูกแดด

การทำดินจุลินทรีย์หมัก / ขั้นตอนที่ 3 การทำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก จากหัวเชื้อราใบไม้สีขาว (จากขั้นตอนที่ 2)

อุปกรณ์

1. หัวเชื้อราใบไม้สีขาว
2. น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว หรือจากผลไม้
3. รำละเอียด
4. ละอองข้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี แป้งข้าวโพด หรือแป้งอื่น ๆ
5. น้ำสะอาด
6. ภาชนะสำหรับคลุก
7. เสื่อฟาง และกระสอบปอ สำหรับคลุมกองดิน
8. ลังพลาสติก ที่มีช่องอากาศมาก ๆ
9. เสื่อหรือผ้าพลาสติก รองกอง ( ถ้ามี )

วิธีการ

1. นำหัวเชื้อราใบไม้สีขาวที่หมักแล้วมาคลุกรำละเอียด ผสมแป้งลงไปด้วยอัตราความเหลวประมาณ 65 % (หมายความว่า เมื่อกำส่วนผสมในมือ แล้วเอานิ้วหัวแม่มือบี้ ส่วนผสมจะแปรรูปไปตามแรงกด ไม่แตกและไม่เละ จนผิดรูป ถ้าเหลวเกินไปให้เติมแป้งหรือรำ แต่ถ้าแตกเพราะแห้งเกินไปให้เติมน้ำผสมน้ำหวานหมักคลุกต่ออีก

2. น้ำที่นำมาเป็นส่วนผสม ต้องผสมนำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว และ/หรือน้ำหวานหมักจากผลไม้ ในสัดส่วนน้ำหวานหมัก 1 ส่วน ต่อน้ำ 1,000 ส่วน ก่อนนำไปใช้คลุกรำ

3. เอากระสอบปอหรือเสื่อฟางคลุม หมักไว้อีก 7 - 10 วัน

4. เราจะได้หัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมักเก็บไว้ใช้ได้เป็นปี ควรเก็บใส่ตะกร้าหรือลังพลาสติกที่มีรูมาก ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท อย่าลืมว่าราใบไม้สีขาวของเราต้องการออกซิเจนหายใจ เก็บในที่ร่ม อย่าให้ถูกแดดถูกน้ำ ตอนนี้หัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมักนี้จะเป็นทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ที่ เราเพาะเลี้ยงไว้ได้แล้ว ดูแลเก็บรักษาให้ดี เป็นทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ที่ไม่ต้องซื้อหามาให้เสียเงินทอง หัวเชื้อดินนี้จะช่วยงานในแปลงเพาะปลูกได้มากกว่าที่เราคาดคิด

คุณโช บอกเราว่าที่ประเทศเกาหลี เกษตรกรคลุกหัวเชื้อและหมักบนพื้นดินธรรมดา ที่เมืองไทย เกษตรกรมีปัญหาการแทรกแซงจากตัวแปลกปลอมมาก ได้รับรายงานจากเกษตรกรหัวใสคนหนึ่งเล่าว่า เขาหมักหัวเชื้อบนกองแกลบดิบ และได้หัวเชื้อดินหมักราใบไม้สีขาวตัวสะอาดสีขาวที่สมบูรณ์ ไม่ถูกแทรกแซงเลย เรื่องนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์

การใช้หัวเชื้อดินหมัก

1. ก่อนใช้ให้นำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก 1 ส่วนไปคลุกเคล้ากับอินทรีย์วัตถุแห้งที่ตัดเป็นท่อนสั้นๆ ไม่เกิน 3 ซ.ม. 10 ส่วน เอาเสื่อฟางคลุมทิ้งไว้ 1 สัปดาห์แล้วนำไปเก็บไว้ในถังพลาสติกที่มีรูมากๆ ไม่ต้องคลุมเพื่อให้ความร้องถ่ายเท ทิ้งไว้อีก 20 วัน ดินคลุกหมักนี้ จะเป็นดินหมักที่สมบูรณ์ มีทั้งธาตุอาหารของพืช และ มีทั้งราใบไมสีขาว ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ เป็นอาหารให้พืช นอกจากนี้ "กองทัพน้องหนู" ยังช่วยรักษาพื้นผิวหน้าดินให้สะอาด มีออกซิเจนอุดม รากพืชแข็งแรง ปลอดพ้นจากการรุกรานของจุลินทรีย์สายพันธุ์อื่นๆ ได้

อินทรีย์วัตถุที่นำไปคลุกนี้ ถ้ารดด้วยน้ำต้มถั่วก่อนจะคลุกก็จะดีมาก ถ้าจะใช้มูลสัตว์หรือมูลคนต้องฆ่าเชื้อให้ดี ใช้ความร้อนไม่ต่ำกว่า 250 องศา ที่มีคนพูดว่า ฆ่าเชื้อในกองหมักนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะจุลินทรีย์ทนความร้อนได้ไม่เกิน 65 องศา จุลินทรีย์จะตายก่อนเชื้อโรคตาย ต้องฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงให้หมด ก่อนนำมาคลุกเคล้ากับหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์

2. เมื่อจะใช้ดินหมักจุลินทรีย์ให้เอาดินในพื้นที่ของเรา นำหนักเท่ากับหัวเชื้อดินหมักคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทำเป็นกอง เอาฟางคลุมไว้ดังเดิมทิ้งไว้อีก 3 วัน จึงนำไปโรยในนา เพื่อเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกประมาณ 7 - 10 วัน กองนี้ต้องทำบนกองแกลบหรือไม่ยังไม่ได้รับรายงานน่าจะทดลองดูนะคะ

ทำดินหมักจุลินทรีย์เป็นแล้ว เราก็เนรมิตได้ทุกอย่างเลยค่ะ เอาไปโรยที่แปลงเพาะปลูก หรือในช่องระหว่างแนวที่หยอดข้าวหรือข้าวโพดหรือโรยในแปลงผัก บนอินทรีย์วัตถุที่คลุมแปลงอยู่ โรยบนแกลบเผาหรือแกลบดำก็ดีสำหรับการปลูกผัก และพืชอายุสั้นอื่น ๆ

การใช้ดินหมักและน้ำหวานหมักในนาข้าว

น้ำหวานหมักที่ดีที่จะใช้กับต้นข้าวเป็นอันดับแรก คือ พืชตระกูลขึ้นฉ่าย รองจากขึ้นฉ่าย คือ พืชตระกูลถั่ว ถ้าปลูกข้าวแล้วต้องการใช้น้ำหวานหมักใส่ เราควรเลือกน้ำหวานหมักจากพืชตระกูลขึ้นฉ่าย หรือ พืชตระกูลถั่ว

1. ก่อนปลูกข้าว ทั้งนาดำและนาหว่าน 15 วัน ให้ใส่ดินหมักจุลินทรีย์ IMO ในดินเป็นการเตรียมดินและเตรียมแปลง

2. ช่วงเติบโต สำหรับนาหว่าน เมื่อต้นข้าวมีใบ 3 ใบ ให้ใช้น้ำหวานหมักจากพืชตระกูลถั่ว ผสมกับน้ำหวานหมักจากผักบุ้ง ผสมน้ำความเข้มข้น 1 : 500 ในนา 1 ไร่ใช้ปริมาณประมาณ 160 ลิตร

3. ช่วงเติบโต สำหรับนาดำ หลังจากปักดำได้ 5 - 7 วันให้ฉีดน้ำหวานหมักจากพืชตระกูลถั่ว ผสมกับน้ำหวานหมักจากผักบุ้ง ผสมน้ำความเข้มข้น 1 : 500 ในนา 1 ไร่ใช้ปริมาณประมาณ 160 ลิตร

4. ช่วงข้าวตั้งท้อง ใช้น้ำหวานหมักจากพืช ผสมกับน้ำหวานหมักจากมะพร้าว ( คือน้ำหวานจากจั่นมะพร้าวที่คนไทยเอามาทำน้ำตาลสด น่ะค่ะ รองน้ำหวานจากจั่นแล้วทิ้งไว้เฉย ๆ 2 วัน จะได้ของเหลวที่ คุณโช เรียกว่าน้ำหวานหมักจากมะพร้าว ) ฉีดพ่นสูตรผสม คือ น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเชียว 0.2 ลิตร และ น้ำหวานหมักจากมะพร้าว 0.2 ลิตร ผสมกันแล้วใช้น้ำ 100 ลิตร ผสมให้เจือจาง ฉีดพ่น ในอัตรา 160 ลิตรต่อไร่

5. ช่วงข้าวออกรวง ใช้ปูนขาวหรือปูนมาล 250 กรัมผสมน้ำ 2 ลิตรคนให้เข้ากัน ต้มจนเดือดทิ้งไว้ให้เย็น ปูนจะตกตะกอน ให้ช้อนเอาน้ำปูนใสที่อยู่ข้างบน เทลงผสมกับส่วนผสมของน้ำหวานหมักจากพืชและจากมะพร้าว ( อัตราส่วนเดิม ) ฉีดพ่นให้ต้นข้าว ในอัตรา 160 ลิตรต่อไร่

การใช้น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว (น้ำแม่) กับน้ำหวานหมักจากผลไม้ (น้ำพ่อ)

พืชทุกชนิดจะแบ่งระยะการเติบโต ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ ในแต่ละช่วงความต้องการธาตุอาหารจะแตกต่างกัน เกษตรกรอาจจะมีหลักพิจารณาได้ง่าย ๆ ดังนี้

1. ช่วงเติบโต ใช้น้ำแม่ 9 ส่วน กับน้ำพ่อ 1 ส่วน ผสมน้ำเจือจาง 1 : 500 ฉีดรด
2. ช่วงตั้งท้อง ใช้น้ำแม่ 5 ส่วน กับน้ำพ่อ 5 ส่วน ผสมน้ำเจือจาง 1 : 500 ฉีดรด
3. ช่วงผลสุก ใช้น้ำแม่ 1 ส่วน กับน้ำพ่อ 9 ส่วน ผสมน้ำเจือจาง 1 : 500 ฉีดรด

สาระน่ารู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์พื้นบ้าน (ไอ เอ็ม โอ)

จุลินทรีย์ คืออะไร

จุลินทรีย์หมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่เป็นหนึ่งในสามกลุ่มสมาชิกของระบบนิเวศ (คือ กลุ่มผู้ผลิต 1 = ต้นไม้, กลุ่มผู้บริโภค 1 = คนและสัตว์, กลุ่มผู้ย่อยสลาย 1 = จุลินทรีย์)

จุลินทรีย์มีหน้าที่อะไรในระบบบนิเวศ

จุลินทรีย์จะช่วยทำความสะอาดระบบนิเวศ ไม่ให้มีเศษกากของเหลือกินเน่าเสีย ตกค้างอยู่นานเกินสมควร เป็นการสร้างสมดุลในวงจรธรรมชาติ ที่ผู้ผลิต คือ ต้นไม้ผลิตขึ้นมาให้คนหรือสัตว์ใช้ในการดำรงชีวิต

จุลินทรีย์มีบทบาทอะไรในการเพาะปลูก

จุลินทรีย์มีหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช อินทรีย์วัตถุทุกชนิด จนเล็กละเอียดและสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชลงสะสมในดิน ซึ่งน้ำจะเป็นตัวละลายให้ธาตุอาหารเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่รากต้นไม้จะดูดขึ้นไปเป็นอาหารได้

จุลินทรีย์พื้นบ้านคืออะไร

โดยทั่วไป จุลินทรีย์พื้นบ้านจะหมายถึงจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในขอบเขตของระบบนิเวศนั้น ๆ ไม่ได้นำเข้ามาจากภายนอกระบบ ภายนอกท้องถิ่น ภายนอกเมือง ภายนอกประเทศ หรือภายนอกภูมิภาคโลกนั้น ๆ เรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Indigenous Micro Organisms

จุลินทรีย์ที่เรียกกันว่า ไอ เอ็ม โอ (IMO) หมายถึงอะไร

ไอ เอ็ม โอ (IMO) เป็นชื่อเฉพาะที่สมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี ใช้เรียกราใบไม้สีขาว ซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่มเล็ก ๆ ในกลุ่มราเมือก (Leaf Mold) ที่อาศัยอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่เพาะปลูก เป็นสายพันธุ์ที่จะใช้ประโยชน์ในการทำการกสิกรรมไร้สารพิษได้ดี มีคุณภาพมาก

พบจุลินทรีย์กลุ่มราใบไม้สีขาวได้ที่ไหน

เราจะพบราใบไม้สีขาวได้ทั่วไป โดยเฉพาะในที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นทองหลาง ขี้เหล็ก จามจุรี แค กระถิน มะค่า มะรุม พฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว (Leguminoceae) หรือพืชตรึงไนโตรเจน (Nitrogen Fixing Trees NFT) หรือ ในกอไผ่ กอข้าว กออ้อย กอหญ้าแฝก ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้า หรือ ใต้ต้นไม้ตระกูลอื่น ๆ เช่น กอกล้วย กอเตย เป็นต้น

ในป่า หรือในดงไม้ ที่มีใบไม้ร่วงหล่นปกคลุมดิน ก็จะมีราใบไม้สีขาวนี้มากมาย เกษตรกรชาวไทยนิยมเก็บใบจามจุรี (ดินก้ามปู) ใบไผ่ ((ดินขุยไผ่) ฟาง แม้กระทั่งใบไม้ในป่า ฯลฯ มาบำรุงดินในแปลงเพาะปลูกตั้งแต่โบราณแล้ว

ลักษณะนิสัยของราใบไม้สีขาวเป็นอย่างไร

ราใบไม้สีขาวอยู่ในกลุ่มราเมือกที่ต้องการออกซีเจน ต้องการที่แห้ง โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ เมื่อถูกฝนถูกน้ำจะตาย และเนื่องจากชอบกินน้ำหวานสดจากพืช จึงมักจะเกาะอยู่ตามใบพืชเขียว หรือ ตามผิวของผลไม้สุกหวาน เพื่อกินน้ำหวานที่ซึมออกมา ส่วนน้ำนั้นราใบไม้สีขาวจะกินน้ำค้าง

ราใบไม้สีขาวทนความร้อนได้ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส จึงอยู่ไม่ได้ในที่ที่เกษตรกรเผาไร่นา ในที่ที่ไม่มีต้นไม้ หรือวัตถุคลุมดินก็จะตาย เพราะไม่มีอาหารกิน ในที่อับชื้น เปียกแฉะ ราใบไม้สีขาวก็จะอยู่ไม่ได้ ในที่ที่ไม่มีออกซิเจน เช่น ในกองขยะ ในถังส้วม ในน้ำเน่า ราใบไม้สีขาวจะอยู่ไม่ได้ เพราะจะขาดอากาศหายใจ ในที่ที่คนใช้สารเคมีสังเคราะห์ ราใบไม้สีขาวจะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ในท้องไร่ท้องนาในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่มีราใบไม้สีขาวเลยหรือ

ในแปลงเกษตรโล่ง โล้น มีแต่พืชชนิดเดียวที่เห็นอยู่ โดยทั่วไปนั้น ไม่มีราใบไม้สีขาวเลย แต่คนเราก็สามารถใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านฃ่วยเร่งการฟื้นตัวของราใบไม้สีขาว รวมทั้งนำมาเพาะเลี้ยงได้

ถ้าไม่มีแล้วจะหาได้อย่างไร

ในระยะแรกที่เรายังไม่มีราใบไม้สีขาวในพื้นที่ของเรา เราก็ต้องสร้างสิ่งที่เขาชอบไว้ล่อให้เขาเข้ามาอยู่กับเรา เช่น หว่านถั่วเขียวในพื้นที่สัก 1 ตารางเมตร ราใบไม้สีขาวก็จะมากินน้ำหวาน และ สูดออกซีเจนที่ใบถั่ว เมื่อใบร่วง ราใบไม้สีขาวก็ร่วงหล่นลงดิน จะไปสร้างบ้านอยู่อาศัย มีลูกมีหลานอยู่ในกองใบไม้ใต้ต้นนั่นเอง แต่ถ้าหากถูกสารเคมีสังเคราะห์พ่นใส่ ก็จะตายหมด

การเพาะเลี้ยงราใบไม้สีขาวทำได้อย่างไร

การเก็บราใบไม้สีขาวจากธรรมชาติ มาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพนั้น ทำได้ง่าย ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน เกษตรกรทุกคนทำได้ เช่นเอาข้าวสุกแห้ง ๆ ไปวางล่อ ราใบไม้สีขาวก็จะมากินอย่างที่เราเคยเห็นปุยขาว ๆ บนข้าวที่เราวางทิ้งไว้ แต่ถ้าข้าวแฉะหรือเปียกน้ำ เราจะไม่เห็นราใบไม้สีขาว แต่จะเห็นราสีอื่น เช่น สีเหลือง ชมภู ฟ้า เขียว หรือดำ เป็นต้น สีต่าง ๆ นี้เป็นสีของราสายพันธุ์ที่ชอบความชื้นแฉะ ชอบของบูดเน่าเสีย และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการออกซีเจน ไม่ใช่ราใบไม้สีขาวของเรา ดังนั้นถ้ามาปนเปื้อนมากก็ต้องทิ้งไป เพราะมันไม่ใช่ตัวที่เราต้องการใช้

จะป้องกันการปนเปื้อนจากสายพันธุ์อื่นๆ ได้อย่างไร

การเก็บราใบไม้สีขาวมาใช้หรือมาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณและความแข็งแรงนั้น เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี (Korean Natural Farming Association) ซึ่งคุณ ฮาน คิว โช เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานคนปัจจุบัน คุณโช มาประเทศไทยตามคำเชิญของกรมวิชาการเกษตร และได้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีพื้นบ้านนี้ให้กับข้าราชการกระทรวงเกษตร และเกษตรกรที่อำเภอวารินชำราบ ต่ออีก 6 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวเกาหลี ในการดำรงชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ จึงน่าจะเหมาะสมกับคนเอเซียมากกว่าเทคโนโลยีการผลิตที่เกิดจากวิชาการตะวันตก หรือเทคโนโลยีเพื่อการค้ากำไรตามระบบทุนนิยมตะวันตก

ปัจจัยการเกษตรเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในพื้นที่มีอะไรบ้าง

สมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี ได้ใช้ และ ถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านปัจจัยการเกษตร ไว้ 6 เรื่องใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการเพาะปลูกครบวงจรที่ยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้สารเคมีสังเคราะห์ใด ๆ เลย ที่สำคัญ คือ

1. หัวเชื้อดินหมักราใบไม้สีขาว ได้มาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงและหมักหัวเชื้อราใบไม้สีขาว เป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ใช้โรยบนแปลงเพาะปลูกแทนปุ๋ยได้เลย

2. น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว ได้จากกระบวนการหมัก ใบ กิ่ง ก้าน ของพืชสด เขียว ในพื้นที่ เพื่อเพาะเลี้ยงราใบไม้สีขาว ที่เกาะกินอาหารอยู่ตามธรรมชาติบนใบพืช พร้อม ๆ กับการถ่ายเทน้ำเลี้ยงในท่ออาหารของพืช นำกลับไปใช้เป็นอาหารสำเร็จรูปให้พืช

3. น้ำหวานหมักจากผลไม้ ซึ่งใช้ผลไม้สด สุก หวาน ทั้งผล ไม่ปอกเปลือก ไม่ล้าง เพื่อเพาะเลี้ยงราใบไม้สีขาวที่เกาะกินน้ำหวานอยู่ที่ผิวของผลไม้ พร้อม ๆ ไปกับการถ่ายเทน้ำเลี้ยงในท่ออาหารของพืช นำกลับไปใช้เป็นอาหารสำเร็จรูปให้พืช

4. ซีรัมของจุลินทรีย์ในกรดน้ำนม ซึ่งคือสารธรรมชาติ ที่ได้จากกระบวนการหมักจุลินทรีย์จากอากาศ ในน้ำซาวข้าวเพาะเลี้ยงด้วยน้ำนมสด

5. กรดอามิโนจากเศษปลาสด ได้จากระบวนการหมักเศษปลาสด ส่วนที่คนไม่กินแล้ว เช่น ก้างใหญ่ ครีบ หัว หาง เป็นต้น

6. ธาตุอาหารสมุนไพร ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช

กระบวนการหมักของสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลีมีหลักการอย่างไร

การหมักเป็นกระบวนการพลังธรรมชาติ ที่ใช้อินทรีย์วัตถุจากธรรมชาติภายในพื้นที่ การถ่ายเทน้ำเลี้ยงจากภายในพืชเป็นระบบธรรมชาติระหว่างของเหลวที่มีความเข้มข้นต่างกัน (Osmosis) กระบวนการทั้งหมด ใช้ของสะอาด สด แห้ง ไม่มีความเปียก แฉะ ชื้น หมักกับน้ำตาลผง แห้ง จากธรรมชาติ โดยไม่มีการฟอกสี ทั้งนี้เพราะราใบไม้สีขาวจะไม่อยู่ในที่เปียก ชื้น แฉะ หรือมีน้ำ ดังนั้นในกระบวนการหมักจึงจะผสมน้ำหรือของเหลวอื่นใด รวมทั้งส่วนผสมของสารสังเคราะห์ใด ๆ ไม่ได้เลย

ชิ้นส่วนของผลไม้สด เศษส่วนของพืชผักผลไม้ที่เน่าเสีย น้ำผลไม้ หรือผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้ว ก็ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นระบบนิเวศที่เปียกแฉะ ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์ที่ต้องการความแห้งและออกซีเจนอย่างรา ใบไม้สีขาว

ทำไม จึงมีน้ำหมักสารพัดสูตรที่อบรม สั่งสอน แจกจ่าย รวมทั้งวางขายกันอยู่มากมาย

1. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดไม่เข้าใจ หลักการ และวัตถุประสงค์ ของการทำน้ำหวานหมักอย่างชัดเจน

2. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดไม่สนใจศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต ไม่มีสำนึกในการสร้างที่กิน ที่อยู่ ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์

3. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดมักจะมักง่าย และเสริมความมักง่ายในใจเกษตรกรเพิ่มด้วย(เช่นสอนว่าใช้อะไรก็ได้) ทำให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ขาดความเข้าใจ ขาดเป้าหมาย สักแต่ว่าใช้โดยไม่รู้ว่าจะเกิดผลเสียในระยะยาวที่อาจจะร้ายแรงกว่าสารเคมี ก็ได้

4. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดมักจะเสริมความมักได้ให้เกษตรกร เช่น แนะนำให้ใส่น้ำเพื่อเพิ่มปริมาณ แนะนำให้นำไปใช้ก่อนเวลาอันควร หรือ แนะนำให้ใช้สารสังเคราะห์แทนสารธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้นกับจุลินทรีย์ เพียงเพราะราคาถูกกว่า

5. เนื่องจากขาดมาตรฐานการผลิต ขาดการศึกษาวิเคราะห์ และการทดสอบอย่างถูกต้อง รวมทั้งขาดการใส่ใจในเรื่องสารพิษปนเปื้อนและสารพิษตกค้าง

6. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดไม่ให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุดิบที่นำไปหมัก และผลที่จะเกิดจากระบวนการหมักนั้น

เช่น ถ้าใช้ของเน่าเสีย เศษกากอาหารบูดเน่า มูลสัตว์และมูลคน จุลินทรีย์ที่จะกินของเหล่านั้นก็จะมาอยู่มากิน ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้ย่อยสลายของเน่าเสีย จุลินทรีย์ที่ไม่กินของเหล่านั้น ก็จะไม่มากินมาอยู่ ก็จะได้เลี้ยงแต่สายพันธุ์ที่เหมาะสมจะนำไปช่วยเร่งการกำจัดขยะ เร่งการกำจัดสิ่งปฏิกูล กำจัดน้ำเน่า ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ที่ควรนำมาใช้กับดินกับพืช

เช่น แม้จะใช้พืชสดเขียว หรือผลไม้สด แต่ถ้าใส่ของเหลวอื่นลงไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เป็นกากน้ำตาล ราใบไม้สีขาวก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นระบบนิเวศที่เปียกแฉะ ยิ่งน้ำท่วมด้วยแล้ว ราใบไม้สีขาวก็จะตายหมด เป็นการสังหารหมู่อย่างเลือดเย็นยิ่ง

จะศึกษาเรื่องราใบไม้สีขาวเพิ่มเติมได้ที่ไหน

ภาษาไทย จากหนังสือ น้องหนูฟื้นฟูแผ่นดิน โดย ภรณ์ ภูมิพันนา
ภาษาอังกฤษ จากหนังสือ Korean Natural Farming โดย Han Kyo Cho และ Atsushi Koyama
รองศาสตราจารย์ อาภรณ์ ภูมิพันนา เครือข่ายวนเกษตรไร้สารพิษ


พืชตระกูลที่ให้สารอาหารประเภท ไนโตรเจน ได้แก่

๑. พืชตระกูลถั่วระดับล่าง อายุสั้น เช่น ถั่วเขียว , ถั่วเหลือง , ถั่วดำ , ถั่วแดง

ถั่วพุ่ม , ชะพลู

๒. พืชตระกูลถั่วระดับกลาง อายุ ๒ - ๓ ปี เช่น มะแฮะ , ชะอม , กระถิน , โสน

๓. พืชตระกูลถั่ว หรือพืชตรึงไนโตรเจนอายุมากกว่า ๕ ปี เช่น มะรุม , แค , ฝรั่ง ก้ามปู ( จามจุรี ) , ทองหลาง , ขี้เหล็ก , มะขาม , กระถินเทพา , จาน , หางนกยุง

พืชตระกูลที่ให้สารอาหารประเภท แคลเซียม , โปตัสเซียม ได้แก่

พืชตระกูลหญ้า เช่น ข้าว , ข้าวโพด , ไผ่ , ตะใค้ร , หญ้าแฝก , กก , ( วัชพืชหญ้าต่างๆ )

พืชตระกูลที่ให้สารอาหารประเภท ฟอสฟอรัส , แคลเซียม ได้แก่

พืชตระกูลงา เช่น ชะพลู , คะน้า , ใบยอ , ผักขม , ถั่วพู , ผักเบี้ย

http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=1309&s=tblanimal&g=

การทำจุลินทรีย์ก้อนดินหอม

การทำจุลินทรีย์ก้อนดินหอม

postdateiconวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2011 เวลา 03:16 น. | พิมพ์

ส่วนประกอบ

1. ดินบริสุทธิ์ 1 ส่วน (ดินบริสุทธิ์ คือ ดินที่มีชีวิต ไม่ผ่านการใช้สารเคมี เช่น ดินป่า ดินกอไผ่ ดินใต้โคน ต้นไม้ใหญ่ หรือดินที่มีราใบไม้สีขาวปกคลุมอยู่ โดยนำหน้าดินลึกไม่เกิน 5 เซนติเมตร)
2. รำละเอียด 1 ส่วน
3. น้ำสะอาด
4. น้ำตาลอ้อยหอม น้ำตาลสีรำ หรือน้ำตาลทรายแดง


กรรมวิธี

1. คลุกเคล้าดินบริสุทธิ์กับรำให้เข้ากัน
2. ละลายน้ำตาลสีรำ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ราดรดส่วนผสม
3. ยีให้มีความชื้น 65% ปั้นเป็นก้อน
4. บ่มเชื้อไว้ในที่ร่ม กันแดดฝน คลุมด้วยกระสอบป่าน เศษผ้าหรือใบไม้แห้ง 15 วัน


เทคโนโลยีการผลิต / เครื่องมืออุปกรณ์


การนำไปใช้
1. โรยใส่กระถาง แปลงผัก โรยบางๆ 1ขีดต่อ 2 ตารางเมตร
2. โรยใส่กองใบไม้หมัก ย่อยใบไม้ เศษผัก กองปุ๋ยหมัก
3. ย่อยฟางข้าว ดินหอม 1 ก้อนต่อน้ำ 1000 ลิตร
4. บำบัดน้ำเสีย ดินหอม 1 ก้อนต่อน้ำ 1000 ลิตร
5. ดับกลิ่นห้องน้ำ ห้องส้วม (ย่อยปฏิกูล) ดินหอม 1 ก้อนต่อ 1 บ่อ

การทำจุลินทรีย์น้ำ
ดินหอม 1 ก้อน น้ำ 10 ลิตร น้ำตาลอ้อยหอมครึ่งกิโลกรัม หมักไว้ 15 วัน คนเช้าเย็น


แหล่งที่มา

เกษตรกรรมธรรมชาติ ฉ.9/2552

จุลินทรีย์ก้อนบำบัดน้ำเสีย Em Ball

ส่วนผสม
1 รำหยาบ 1 ส่วน
2. รำละเีอียด 1 ส่วน
3. ทราย 2 ส่วน
4. โบกาชิ 1 ส่วน
5. EM ขยาย 1 ส่วน

วิธีทำ
นำรำหยาบผสมกับทราย ผสมกับโบกาชิ คลุกเคล้าให้เข้ากันเติมน้ำ EM ขยาย
ให้ได้มีความชื่นประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ลองกำดู แล้วส่วนผสมไม่ไหลออกตาม
ง่ามนิ้ว นำรำละเอียดมาคลุกให้เข้ากัน ปั้นเป็นก้อนกลมอัดแน่น ขนาดเท่าลูกเปตอง
คลุมด้วยกระสอบป่านหมักทิ้งไว้ในท่ร่ม อากาศถ่ายเทได้ ประมาณ 7 วัน จึงนำมาใช้


** การขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ EM
- หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM 2 ฝาเขียว EM
- กากน้ำตาล 2 ฝาเขียว EM
- น้ำสะอาด (ไม่มีคอลีน) 1 ลิตร

วิธีทำ ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ EM กากน้ำตาล และน้ำเข้าด้วยกันใส่ขวดพลาสติก ชนิด
ฝาเกลียวปิดฝาให้แน่น เก็บไว้ 7 วัน จะเป็น EM ขยาย เป็นการนำหัวเชื้อจุลินทรีย์มาขยาย
ให้ได้จำนวนมากเพื่อลดต้นทุน นำไปใช้ ประโยชน์ได้มากมาย (เก็บไว้ในที่ร่มได้นาน 3 เดือน)

ที่มา : จากเอกสารที่ได้ไปอบรมการประยุกติใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ

วิธีทำ EM ball (ดังโงะ)
เพื่อการบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำที่มีโคลนตะกอน หรือน้ำไหล หรือน้ำลึก ให้ได้ผลดีกว่าการใช้ EM ขยาย หรือจะใช้ทั้ง EM ball และ EM ขยาย ร่วมกันก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น

ส่วนผสม ส่วนที่ 1

1. รำละเอียด 1 ส่วน
2. แกลบป่น หรือ รำหยาบ 1 ส่วน
3. ดินทราย 1 ส่วน

* ใช้ โบกาฉิ แทนส่วนที่ 1 หรือใช้โคลนตะกอน แทนดินทรายได้
ส่วนที่ 2

1. EM 10 ช้อนแกง
2. กากน้ำตาล 10 ช้อนแกง
3. น้ำสะอาด 10 ลิตร

* ใช้ EM ขยาย หรือ EM หมักน้ำซาวข้าว หรือ EM5 ผสมร่วมกันหรือใช้แทน EM กับกากน้ำตาลได้
วิธีทำ

1. ผสมส่วนที่ 1 แล้วรดด้วยส่วนที่ 2 คลุกเคล้าให้เข้ากัน
2. วัดความชื้นพอเหมาะ ปั้นเป็นก้อนกลม หรือดัดแปรงได้ตามต้องการ
3. นำไปวางไว้ในที่ร่มจนแห้งสนิท แล้วนำไปใช้

ในช่วงนี้เราจะเห็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบว่ามีการพูดถึงกันเยอะ นั่นคือ EM Ball นั่นเอง แต่จริงๆแล้ว EM Ball คืออะไร ใช้งานอย่างไร และครอบจักรวาลจริงหรือไม่ มีวิธีการทำอย่างไร นั้นลองไปดูกันนะครับ

em ball

EM Ball ที่ว่านั้น EM มาจากคำว่า Effective Micro-organisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยต้นกำเนิดนั้นมาจากทางฝั่งประเทศญี่ปุ่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.เทรโอะ ฮิงะ (TEROU HIGA) แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาว่า ได้ทดลองใช้เทคนิคทางชีวภาพในการปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยอาศัย กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง อย่างเช่น แลกโตบาซิลัส เพนนิซีเลี่ยม ไตรโคเดอมา ฟูซาเรียม สเตรปโตไมซิส อโซโตแบคเตอ ไรโซเบียม ยีสต์ รา เป็นต้น

ซึ่ง ข้อดีของมันคือ เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ และมีพลังแอนติออกซิเดชั่นซึ่งโดยปรกติแล้ว หัวเชื้อ EM ที่ได้มักจะเป็นของเหลวสีน้ำตาลกลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ แต่เนื่องจาก การใช้ EM ที่เป็นแบบน้ำนั้นจะทำให้น้ำไหลไปกับสายน้ำ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมในพื้นที่น้ำไหล เหมือนดั่งสภาวะน้ำท่วมในตอนนี้ (ดังนั้นหากบ้านใครมี สระน้ำ บ่อน้ำ ที่ต้องการใช้ก็สามารถใช้ EM แบบน้ำได้นะครับ)

ประโยชน์ของEM หรือจุลินทรีย์โดยทั่วไป ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่นิยมกันคือ

  • - ใช้ในการปรับเศษอาหารจากครัวเรือน ให้กลายเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ต่อพืชผักได้
  • - ช่วยปรับสภาพน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน โรงงาน โรงแรมหรือแหล่งน้ำเสีย
  • - ช่วยดับกลิ่นเหม็นจากกองขยะที่หมักหมมมานานได้

สำหรับ EM นั้นไม่ได้มีแต่ EM Ball เพียงอย่างเดียวที่ใช้งานได้ แต่เรายังใช้น้ำ EM ในการบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วยนะครับ

วัสดุที่ต้องการใช้ในการ EM Ball

ได้แก่

    1. - รำละเอียด
    2. - รำหยาบ
    3. - น้ำ
    4. - หัวเชื้อ EM
    5. - กากน้ำตาล
    6. - ดินทรายละเอียด (ถ้าไม่มีเอาดินเลนมาผึ่งให้แห้งๆหน่อย หรือใช้ดินขี้เถ้าแกลบก็ได้ครับ)

ขั้นตอนการทำ EM Ball

  1. - นำรำละเอียด 2 ส่วน รำหยาบ 2 ส่วน ดินทรายละเอียด 1 ส่วน มาผสมกัน คลุกเคล้าให้ทั่ว (บางสูตรอาจจะใช้อัตราส่วนเท่ากันหมดก็ได้ครับ)
  2. - EM 10 ช้อนแกง กากน้ำตาล 10 ช้อนแกง น้ำ 10 ลิตร ผสมให้เข้ากัน
  3. - จากนั้นนำทั้งสอง อย่างมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แนะนำว่า ค่อยๆเทน้ำ EM ที่ผสมแล้วลงไปครับ เพราะถ้าเทรวดเดียวหมดแล้วมันเหลวไป ปั้นเป็นก้อนไม่ได้ ก็ต้องไปผสม ส่วนผสมใน ข้อ 1 เพิ่ม
  4. - จากนั้นพอปั้นเป็นก้อน ก็ให้นำไปวางผึ่งลมให้แห้งนะครับ ย้ำว่า ผึ่งลม ถ้าใครเอาไปผึ่งแดด เราจะได้ก้อนดินเท่านั้นครับ เพราะเชื้อตายเอาง่ายๆครับ
  5. - หลังจากนั้นควรเก็บไว้อีกซัก 10-15 วัน เพื่อให้เชื่อเริ่มทำงานนะครับ ใครได้ EM Ball ใหม่สด เพิ่งแห้ง โยนลงไปอาจจะทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรนะครับ ควรรอซักระยะให้เชื้อเริ่มขยายจำนวนก่อน

ข้อจำกัดของการใช้ EM Ball

ซึ่งจริงๆแล้ว เราจะเห็นข่าวกันเยอะไปใช้ EM Ball ไปโยน EM Ball นั้น ไม่ได้หมายความว่า มันจะช่วยได้ครอบจักรวาลนะครับ หากแต่ EM Ball เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาในสภาพแวดล้อม เท่านั้นเอง พูดง่ายๆคือ เหมือนกับการเปลี่ยนจากการเคี่ยวน้ำซุบกระดูกหมูกันเป็นวัน มาเป็นโยนซุบไก่ ซุบหมูก้อน กันแทนนั่นเองครับ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ

  1. - จุลินทรีย์ที่นำมาทำ EM ball นั้นมีชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ ที่มาก และไม่เสื่อมสภาพ ดังนั้น น้ำ EM ที่นำมาเป็นหัวเชื้อต้องสดใหม่หน่อยครับ
  2. - ต้องมีปริมาณที่เหมาะสมในการใช้งาน เช่นใน บ่อน้ำที่มีน้ำนิ่ง ก็จะอยู่ที่ EM Ball 1 ก้อน ต่อ 1 เดือน ต่อน้้าไม่เกิน 5-10 ลบ.ม. ส่วนในน้ำไหลแบบที่เป็นสถานการณ์น้ำท่วมนั้นอาจจะต้องใช้เยอะกว่านั้นมาก ดังนั้น หากน้ำท่วมภายในเขตรั้วบ้านและมีน้ำนิ่ง การเลือกใช้ EM Ball ลงไปเพื่อลดกลิ่นจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าจะโยนลงถนนหน้าบ้าน หรืออย่าง ถนนวิภาวดีนั้น จะต้องใช้เยอะมากๆ ดังนั้นถ้าจะใช้กับพื้นที่ถนนหน้าบ้านใคร ก็ควรดูประกอบครับว่า น้ำไหลแรงแค่ไหน ถ้าไม่ค่อยไหล นิ่งๆ ก็ใช้ดูได้ครับ แต่ให้ใช้เยอะหน่อยเท่านั้น
    สมมุติว่า น้ำ ขังในบ้านสูงหนึ่งเมตร พื้นที่ภายในรั้วบ้านกว้าง 5เมตร ยาว 10 เมตร ก็จะเท่ากับปริมาณน้ำ 50 ลบ.ม. ซึ่งก็ใช้ EM Ball ประมาณ 5-10ลูก
  3. - ระดับน้ำ ไม่ควรเกิน 3 เมตร
  4. - ดังนั้นในพื้นที่ ที่มีน้ำไหล สามารถเลือกใช้วิธีการอื่น เช่น การเติมอากาศ จะดีกว่า (ดังเช่นที่ การประปา เลือกที่จะใช้การเติมอากาศลงสู่คลองประปา แทนนั่นเอง)

น้ำหัวเชื่อ EM สำหรับบำบัดน้ำเสีย

จริงๆแล้วในการใช้งาน สำหรับเจ้า EM Ball นั้นคือ มีข้อดีในการที่จะไม่ไหลไปตามน้ำ และทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เก็บได้นาน แต่หาต้องการรวดเร็วใช้เลย และไม่ต้องการบ่มให้เสียเวลา การเลือกใช้น้ำ EM ราดเลยก็ใช้การได้ครับ ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในตัวบ้าน หลังน้ำลด เพื่อใช้ราดลงตามท่อระบายน้ำต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดกลิ่นเหม็นเน่าลงได้สะดวก รวดเร็วกว่านะครับ

อุปกรณ์ ในการทำน้ำ EM

  1. - หัวเชื้อ EM
  2. - น้ำซาวข้าว

วิธีการทำน้ำ EM

ง่าย มากมายครับ คือ นำน้ำซาวข้าว 10 ลิตร ผสมกับ หัวเชื้อ EM 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกัน คนนิดหน่อยพอให้เข้ากันได้ครับ จากนั้น กรอกใส่ขวด ใส่ถังอะไรก็ได้ ปิดฝาไว้พอให้อากาศระบายได้ แนะนำว่า ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์คลุมถังไว้ก็ได้แล้วครับ แต่ถ้าใส่ในขวดปิดฝา ควรเปิดระบายอากาศทุกเช้า ทุกวันครับ ดังนั้น แนะนำว่า เอากระดาษหนังสือพิมพ์คลุมไว้ดีที่สุด

โดยทิ้งไว้ 7 วันนะครับ จะได้นำ EM นำไปใช้งานได้แล้ว

วิธีการนำน้ำ EM ไปใช้

วิธีการใช้งานไม่ยากครับ ถ้ามีกลิ่นเหม็นเน่าในท่อ ก็ราดลงท่อ หรือตรงมุมพื้นที่น้ำขังอยู่ได้ทันทีครับ ซึ่งเจ้าน้ำ EM นี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่น้ำขังนิ่งๆ ไม่ไหลไปไหน และมีขนาดพื้นที่ไม่เยอะมาก เช่นในบ่อเกรอะ บ่อพักน้ำทิ้งในบ้าน บ่อปลาที่น้ำท่วมขังอยู่ (และปลาไปกับน้ำท่วมแล้ว) พวกนี้ช่วยได้ครับ

ส่วนถ้าเป็นพื้นที่ ที่มีปริมาณเยอะ สามารถใช้ร่วมกับ EM Ball ได้ครับ เช่นโยน EM Ball ไป 5 ลูก แล้วราดน้ำ EM ที่เหลือ กระจายๆกันลงไป หรือกองขยะเหม็นๆ ก็สามารถใช้ราดเพื่อลดกลิ่นได้ แต่ถ้าขยะทั้งหมดอยู่ในถุงดำ ก็คงลำบากหน่อยครับ

ข้อจำกัดของน้ำ EM ที่ทำขึ้น

เนื่อง จากมันเป็นน้ำ ดังนั้น ไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่เป็นน้ำไหลได้เลย เช่น ถนนหน้าบ้านที่น้ำท่วม, ถนนวิภาวดี อะไรพวกนี้ใช้ไม่ได้ครับ หรือใช้ในคลองก็ไม่ได้ เทไปปุ๊บหายวับไปกับตาเลยทีเดียว ที่อาจจะพอใช้ได้หลังน้ำลดแล้วเช่น ท่อระบายน้ำหน้าบ้าน ที่ส่งกลิ่นเหม็น เป็นต้น

ดังนั้นในสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ ควรจะเลือกใช้งานให้เหมาะนะครับ ว่าจะใช้แบบไหน อย่าคิดว่า EM Ball สามารถใช้งานได้เพียงอย่างเดียว หรือใช้งานได้ครอบจักรวาลครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น