วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สูตร(ไม่)ลับคัดหุ้นเด่นเล่นให้รวยต้องอย่างนี้


บทความจาก http://thailworld.blogspot.com


ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์:สูตร(ไม่)ลับคัดหุ้นเด่นเล่นให้รวยต้องอย่างนี้



แท้ที่จริงแล้วหุ้นในตลาดมีอยู่เพียง3ตัวเท่านั้น

1.หุ้นที่เก่งกว่าตลาด-Outperform Market เมื่อเทียบกับดัชนีSETที่เป็นBenchmark

2.หุ้นที่พอๆกับตลาด หรือไปทางเดียวกับตลาด-Performing Market

3.หุ้นที่ห่วยกว่าตลาด-Underperform Market

กฎข้อสำคัญมีอยู่ว่า จงอย่ายุ่ง หรือออกจากหุ้นUnderperform ไปหาหุ้นPerforming หรือOutperform

แล้วชีวิตนักลงทุนของคุณก็จะเป็นสุขๆ อาเมน

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

สามัญสำนึก

 สามัญสำนึก

โดย สกุณาประยูรศุข

ก่อนหน้านี้สักปีสองปี จำได้ว่าระหว่างสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคารพนับถือกันเสมือนครูอาจารย์ คำพูดหนึ่งของท่านนั้นบอกว่า 

"จงทำในสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีคนทำ แต่สิ่งที่ง่ายนั้นใคร ๆ ก็แย่งกันทำ"

ตอนนั้นไม่ใคร่ใส่ใจอะไรมากนัก เพราะเห็นว่าคนเราย่อมมีความเห็นที่แตกต่าง และแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองพึงพอใจ แต่เมื่อนานวันเข้ากลับเห็นว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นชี้แนะ คือขุมทรัพย์อันประเสริฐ

สิ่งที่ท่านกล่าวมันเป็น "ของจริง" และ "รู้" กันเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ไม่เคยใคร่ครวญและ "ยอมรับ" โดยมากจะปล่อยผ่านเลยไป รวมทั้งตัวเองเมื่อครั้งโน้นด้วย

กระทั่งวันหนึ่ง มีน้องนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาฝึกงานกับกองบรรณาธิการ ได้เวลาฝึกเสร็จมาสวัสดี ลากลับ เลยมีโอกาสถามน้องคนนั้นว่า คิดจะเป็น "นักข่าว" หรือไม่ ? หลังจากมาฝึกงาน

น้องผู้หญิงยิ้มพยักหน้าบอกว่า "หนูชอบค่ะ"

เธอตอบไม่ตรงคำถาม เลยต้องถามย้ำกลับไปว่า 

"ชอบเป็นนักข่าว ?" คราวนี้น้องต้องพยักหน้าซ้ำบอกว่า "ค่ะ"

ถามกลับไปอีกว่า "ทำไม เป็นนักข่าวแล้วได้อะไร ?" น้องผู้หญิงคนเดิมบอกเล่าได้ความรู้ ความสนุกสนานแบบไม่ซ้ำซาก จำเจ สนุกที่ได้พบปะเจอะเจอผู้คนไม่ซ้ำหน้า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และอื่น ๆ อีกหลายอย่างแต่พอถามว่า แล้วอยากเป็นนักข่าวสายไหน คราวนี้น้องนิ่ง ไม่ตอบคำถาม

ใจเธอคงกำลังเรียบเรียงความคิด ว่าจะตอบอย่างไรดี เพราะจากข้อเท็จจริงแล้ว เธอเองก็ยังไม่รู้ความแตกต่างของสายงานข่าวแต่ละสายว่ามันเป็นอย่างไร เพราะการฝึกงานของเธอนั้น ฝึกอยู่เพียงสายเดียว ยังไม่ได้โยกย้ายหรือไปทำความรู้จักกับสายงานสายอื่น ๆ

ให้เวลาเธอคิด แต่เธอก็ยังเงียบ ในที่สุดเลยต้องบอกกลับไปว่า อยากทำงานนักข่าวน่ะดีแล้ว เพราะเรียนมาทางด้านนี้ การได้ทำงานตรงกับสิ่งที่เรียนมา น้อยคนที่จะ "ได้ทำ"

"แต่ขอไว้อย่างหนึ่งว่า-ไม่ว่างานอะไรก็ตาม หากจะต้องทำ ขอให้หัดทำในสิ่งที่ยาก อย่าทำในสิ่งที่ง่าย" 

แววตาฉงนปรากฏบนใบหน้าของเธอทันที เลยต้องอธิบายกันต่อว่า ความหมายของคำพูดที่พูดให้ฟัง ไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากบอกให้เธอได้รู้เพิ่มเติมอีก ว่า นอกเหนือจากความรู้ที่ร่ำเรียนมา ไม่ว่าจากตำราในห้องเรียน หรือที่มาฝึกงาน มันยังไม่เพียงพอที่จะนำพาชีวิตในปัจจุบันไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างที่คิดฝัน

มันยังต้องมี "ความขยัน อดทน อดกลั้น ความมุ่งมั่น" ที่จะเอาชนะอุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาเป็นบททดสอบ และสร้างความแข็งแกร่งให้ชีวิต

ถ้ารักสบาย เลือกทำแต่สิ่งที่ง่าย ๆ ก็ไม่ได้ฝึกฝนความคิด ไม่ได้ฝึกฝนการแก้ปัญหา ในระยะยาวก็จะมีแต่ความอ่อนด้อย อ่อนแอ สุดท้ายก็อยู่ไปวัน ๆ ไม่รู้สึกถึงคุณค่าตัวเอง

การที่บอกกับน้องฝึกงานเช่นนี้ เพราะทุกครั้งหรือเกือบจะทุกครั้งที่รับสมัครนักข่าวใหม่เข้าทำงาน เมื่อถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ คำถามเบสิกว่า อยากทำงานสายไหน ร้อยทั้งร้อยตอบว่า อยากเป็นนักข่าวสารคดีท่องเที่ยว อยากเขียนเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ หรือข่าวบันเทิง

ขอทำงานแบบชิล ชิล ชอบชีวิตชิล ชิล

น้อยมากหรือแทบไม่มีเลยที่จะบอกว่า อยากทำสายการเงิน การคลัง เศรษฐกิจมหภาค ฯลฯ 

เหตุผลของคนเหล่านั้น คือข่าวเศรษฐกิจยากเกินไป ทำแล้วเครียด ปวดหัว ไม่เข้าใจ มีแต่ตัวเลข

ที่สำคัญงานยากแล้วยังได้เงินน้อย

ฟังแล้วก็ต้องอึ้ง กับความคิดของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ส่วนมากที่เขาคิดกัน

เงินสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต และชีวิตก็ไม่ควรจะอยู่ไปวัน ๆ

หัดทำสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีคนทำ แต่สิ่งที่ง่ายนั้น ใคร ๆ

ก็แย่งกันทำ !

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้นำทัพแห่งนาซีเยอรมัน เจ้าแห่งยุทธศาสตร์สงคราม



อีริค ฟอน แมนสไตน์ ผู้นำทัพแห่งนาซีเยอรมัน เขาคือเจ้าแห่งยุทธศาสตร์สงครามที่แม้แต่ฮิตเลอร์ยังนับถือ เขาเคยพูดถึง "ประเภทของคน" ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ลึกซึ้ง มันเปลี่ยนความคิดผม และทำให้ผมเข้าใจอะไรขึ้นอีกเยอะ  ลองอ่านดู

สำหรับคนขี้เกียจและโง่ ให้ปล่อยพวกเขาไว้ พวกนี้ไม่น่าสนใจ

สำหรับคนขยันแต่โง่ ให่ไล่ออกทันที คนพวกนี้อันตราย

สำหรับคนขยันและฉลาด คนพวกนี้เหมาะจะเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นเลิศ

และคนพวกสุดท้าย คนขี้เกียจแต่ฉลาด คนพวกนี้เหมาะจะเป็นดาวเด่น

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำธรรมดาๆ เพื่อกำไรที่ไม่ธรรมดา


คำแนะนำธรรมดาๆ เพื่อกำไรที่ไม่ธรรมดา by ลูกอิสาน

คำแนะนำธรรมดาๆ เพื่อกำไรที่ไม่ธรรมดา
by ลูกอิสาน


1.การลงทุนในหุ้นไม่มีทางลัด หากนักลงทุนต้องการผลลัพธ์การลงทุนที่ดี การลงทุนศึกษาหาความรู้ ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของกิจการเป็นสิ่งจำเป็น นักลงทุนที่ทำมากกว่า ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำให้ดีกว่าคนที่ทำน้อย หากเปรียบเทียบผลลัพธ์กับความพยายามในแง่ความคุ้มค่า ชีวิตคนๆหนึ่งอาจใช้เวลาในการศึกษา เล่าเรียนศาสตร์ต่างๆเกือบ 20 ปี และสำเร็จออกมาเพียงเพื่อเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะบรรลุอิสรภาพทางการเงิน และมีเวลาที่จะทำสิ่งที่อยากจะทำ มีกำลังที่จะช่วยเหลือสังคม การมุ่งเน้นศึกษาการลงทุนในหุ้นตามแนวทางเน้นมูลค่าเพียงระยะเวลาไม่นาน และสละเวลาติดตามข่าวสาร ความก้าวหน้าของกิจการบ้าง อาจจะเปลี่ยนชีวิตคนทั้งชีวิต


2. ตัดสินใจซื้อและขายหุ้นบนพื้นฐานของกิจการ การลงทุนซื้อหรือขายหุ้นทุกครั้ง นักลงทุนควรพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการ เพราะหุ้นคือส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจการ การวิเคราะห์หุ้นก็คือการวิเคราะห์กิจการนั่นเอง


3. สิ่งที่ยากที่สุดในการลงทุนระยะยาวในหุ้น คือการพยายามเป็นนักลงทุนที่ใช้เหตุผล ในสภาวะที่ไม่มีใครมองหาเหตุผล ความสามารถในการมองเห็นกระแส โดยที่ตัวนักลงทุนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรเข้าใจคือเมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบคล้ายๆกันเกิดเป็นพฤติกรรมหมู่ หากเกิดมากๆเรียกว่ากระแส ซึ่งบ่อยครั้งพฤติกรรมเหล่านี้จะออกห่างจากความมีเหตุมีผลมากขึ้นทุกทีๆ นักลงทุนที่ใช้เหตุผลควรเพิกเฉยและมองหาประโยชน์จากกระแสนั้นๆ การประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวนั้น ต้องอาศัยทั้งปัญญาและสติ การขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้การลงทุนไปไม่ถึงฝั่ง


4. การลงทุนอย่างมีความสุขคือการหาจุดสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง การมุ่งเน้นผลตอบแทนมากเกินไป อาจจะทำให้การลงทุนประสบหายนะ ในขณะที่การเน้นปกป้องความเสี่ยงมากเกินไป จะทำให้การลงทุนไม่อาจสร้างความแตกต่าง เสมือนเรือที่ลอยนิ่งอยู่กลางน้ำ


5. รู้จักตัวเอง และลงทุนให้เหมาะกับสภาพของตัวเอง นักลงทุนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันทั้งในด้านทัศนะคติ อุปนิสัยใจคอ ความสามารถในการรับความเสี่ยง จำนวนเงินทุน ดังนั้นการรู้ตัวเอง เข้าใจตัวเอง และนำจุดแข็งมาใช้ประโยชน์ในการลงทุน จะดีกว่าการพยายามเลียนแบบการลงทุนตามนักลงทุนคนอื่นๆ ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น 
นักลงทุนที่เน้นความปลอดภัยของเงินต้น ย่อมรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และมั่นคงจะเป็นทางเลือกต้นๆ ในขณะที่นักลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่มาก สามารถลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีที่มีขนาดเล็ก ในขณะที่นักลงทุนที่มีเงินทุนสูงไม่สามารถลงทุนได้


6. แรงผลักดันราคาหุ้น ประการแรกคือโดยปัจจัยพื้นฐานความก้าวหน้าของกิจการ ประการที่สองคือแรงผลักดันจากปัจจัยทางด้านอารมณ์ของนักลงทุนในตลาด การเข้าใจแรงผลักดันประเด็นแรก เพียงพอที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ แต่การเข้าใจทั้งสองประเด็น จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จยิ่งกว่า


7. หุ้นของทุกๆกิจการมีมูลค่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ หากซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น หุ้นที่แม้จะมีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น มีการเติบโตของผลกำไรสูง หากนักลงทุนเข้าซื้อที่ราคาแพงเกินไป การลงทุนนั้นอาจจะไม่ทำกำไร แย่กว่านั้นอาจจะขาดทุน ในขณะที่หุ้นที่อาจจะมีพื้นฐานด้อยกว่า หากซื้อในราคาที่ต่ำ มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเพียงพอ การลงทุนนั้นก็สามารถสร้างกำไรได้ พูดได้ว่าผลลัพธ์การลงทุนขึ้นอยู่กับราคาที่เราจ่ายเปรียบเทียบกับคุณภาพของกิจการที่นักลงทุนได้รับ


8.หุ้นที่ชนะในระยะยาวคือหุ้นของกิจการที่มีอัตราการเติบโตสูง และกิจการต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น การขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้ธุรกิจหรือราคาหุ้นไปได้ไม่ไกล ธุรกิจที่โดดเด่น มักจะขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลูกค้าต้องใช้ซ้ำๆ สามารถขยายฐานลูกค้าออกไปได้ ในขณะที่ลูกค้าเดิมยังคงอยู่ และคู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแข่งขัน หรือเข้ามาได้ยาก หากนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นกิจการเหล่านี้ได้ในราคาถูกหรือราคาสมเหตุสมผล และถือไว้ในระยะยาว การลงทุนเช่นนี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีเลิศ


9. ราคาหุ้นในระยะสั้นเหมือนเครื่องโหวตคะแนนเสียง แต่ราคาหุ้นในระยะยาวเสมือนเครื่องชั่ง ในระยะสั้นๆมีปัจจัยมากมายที่กระทบราคาหุ้น ทั้งข่าวสารต่างๆ ภาวะเศรษกิจ อารมณ์โลภ กลัว แรงซื้อจากรายใหญ่ แรงซื้อจากต่างชาติ ราคาหุ้นสามารถขึ้นหรือลงได้อย่างไร้เหตุผล แต่ในระยะยาวราคาหุ้นจะไปตามผลประกอบการเสมอ ผลประกอบการเป็นเสมือนมือที่มองไม่เห็นที่คอยกำหนดราคาหุ้น ความจริงที่ว่าราคาหุ้นในระยะยาวจะสะท้อนผลประกอบการเสมอ เป็นความจริงที่สมบูรณ์แบบในตลาดหุ้น


10. จังหวะในการซื้อหุ้นที่ดีที่สุดคือตอนที่มีข่าวร้ายมากที่สุด ทั้งที่พื้นฐานของธุรกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนทั่วไปมีแนวโน้มจะขายหุ้นเมื่อราคาลดลง และเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น เพราะนั่นทำให้นักลงทุนสบายใจมากกว่า หากซื้อหุ้นแล้วราคาลดลง นักลงทุนจะรู้สึกผิด และสงสัยว่าทำไมตลาดหรือนักลงทุนคนอื่นๆไม่คิดอย่างนั้น ด้วยความไม่แน่ใจนี้ นักลงทุนจะมีข้ออ้างต่างๆในการขายหุ้นออกไป เช่นว่า หุ้นดีทำไมราคาลง มีข่าวร้ายอะไรที่นักลงทุนยังไม่รู้หรือเปล่า ขายไปก่อนแล้วรอรับกลับที่ราคาต่ำกว่า หรือคำกล่าวที่ว่าถูกแล้วยังมีถูกอีก

และในทางตรงกันข้ามเมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะกระตือรือร้นที่จะซื้อหุ้น ด้วยข้ออ้างที่คล้ายคลึงกัน เช่น หุ้นน่าจะดี เพราะไม่ดีราคาคงไม่ขึ้น มีข่าวดีๆอะไรที่นักลงทุนยังไม่รู้หรือเปล่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หุ้นที่ราคาสูงขึ้น จะสูงขึ้นอีก ยิ่งซื้อราคาก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นยิ่งทำให้นักลงทุนสบายใจ เพราะเข้าใจว่าการลงทุนนั้นถูกตัดสินจากตลาดว่าถูกต้อง แนวโน้มที่นักลงทุนทำการขายเมื่อราคาหุ้นถูก ซื้อเมื่อราคาหุ้นแพง อย่างนี้ จะทำให้การลงทุนล้มเหลวหรือไปได้ไม่ไกล นักลงทุนที่ดีควรทำในทางตรงกันข้าม โดยตัดสินใจซื้อและขายบนพื้นฐานของกิจการ หลีกเลี่ยงไม่ให้อารมณ์ของตลาดเข้ามามีผล ข้อควรระวังของประเด็นนี้คือ การซื้อหุ้นเพียงเพราะเห็นว่าราคาลดลง โดยไม่ได้ตรวจสอบดูว่าพื้นฐานของกิจการมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า จะเป็นอันตรายต่อการลงทุนพอๆกัน


11. มองภาพใหญ่ อย่าใส่ใจภาพเล็ก กิจการทุกกิจการย่อมมีข้อดี ข้อเด่นข้อด้อย แตกต่างกันไป ไม่มีกิจการใดที่ดีพร้อม หรือแย่ไปหมดทุกอย่าง นักลงทุนควรจะเลือกกิจการที่มีข้อเสียน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับราคา การให้ความสำคัญมากเกินไปกับข้อเสียเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร ทำให้นักลงทุนหลายๆคนพลาด ปล่อยโอกาสที่จะได้ลงทุนในกิจการที่ดีเยี่ยมหลุดลอยไป



12. พัฒนาการลงทุน เทคนิควิธีการลงทุนที่เคยใช้ได้ผลดีในวันนี้ อาจจะใช้ไม่ได้ผลดีในวันข้างหน้า วิธีที่เคยใช้ได้ผลดีในต่างประเทศ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ผลดีภายในประเทศ ธุรกิจที่ดีในวันนี้ อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีในเวลาต่อมา มีธุรกิจดาวร่วงก็มีธุรกิจดาวรุ่ง นักลงทุนที่ดีควรยืดหยุ่นที่จะปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม กาลเวลาที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือควรตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ


13. อย่าเสี่ยงเกินตัว การกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อหุ้น การทุ่มซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป แม้อาจจะให้ผลตอบแทนสูงๆติดต่อกันหลายครั้ง แต่หากเกิดความผิดพลาดเพียงแค่ครั้งเดียว อาจไม่มีโอกาสแม้จะแก้ตัว แม้ความเสี่ยงสามารถลดลงได้ด้วยความรู้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่นักลงทุนคนหนึ่งๆจะมีขอบเขตความรู้ในทุกๆเรื่อง นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ การกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์หรือในจำนวนกิจการที่ลงทุนบ้าง เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรใส่ใจ


14. การลงทุนระยาวในหุ้น แน่นอนที่สุดว่าจะต้องผ่านทั้งวันคืนที่ดี วันคืนที่แย่ และวันที่แย่สุดๆ การรับรู้และเข้าใจเรื่องนี้ พร้อมที่จะรับมือกับวันร้ายๆ จะดีกว่าการพยายามที่จะหาจังหวะเข้าออกจากตลาด โดยการทำนาย ทายทัก คาดเดา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะประมาณความถูกต้อง หากการลงทุนระยะยาว สร้างความหวาดกลัววิตกว่าสักวันเหตุการณ์แย่ๆอาจจะเกิดขึ้น การมีทัศนคติที่ว่าในระยะยาวการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงสุด จะทำให้นักลงทุนถือหุ้นระยะยาวได้อย่างมั่นคง

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Shiftout


Shiftout  (Pin , Pclk, SigBitType , ตัวแปร)

Pin คือขาที่ต้องการส่ง DATA ออกไป ซึ่งปกติขานี้จะต่อกับ SDI ของ device (เพราะตัว MCU เป็น SDO) ถ้าเป็นชิพบางรุ่นจะใช้ว่า Din (เพราะตัว MCU เป็น Dout)

Pclk คือ ขาที่ทำหน้าที่เป็นสัญญาณนาฬิกา ซึ่งต่อที่ขา CLK ของ device

SigbitType มี 4 แบบคือ
แบบที่ 0 - MSB first when edge of clock goes low หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญสูงสุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น low
แบบที่ 1 - LSB  first when edge of clock goes low หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่ำที่สุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น low
แบบที่ 2 - MSB first when edge of clock goes high หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญสูงสุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น high
แบบที่ 3 - LSB  first when edge of clock goes high หมายถึงส่งบิตของตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่ำที่สุดออกไปก่อนเมื่อสัญญาณที่ขา Pclk เป็น high

ตัวแปร หมายถึง ตัวแปรชนิด byte, หรือ word

สมมติ เรา Dim Tmp as Byte

Tmp = 65

Shiftout  PA.0, PA.1, 0 , Tmp

MCU จะกำเนิดสัญญาณนาฬิกาที่ขา PA.1 จำนวน 8 ครั้ง นับขาขึ้นและลง เป็น 1 ตามความถี่ที่ CPU วิ่งหารด้วย 8

ต่อมา ขา PA.0 จะมีการลำดับบิตดังนี้

65 DEC =  0100 0001 BIN
               
บิตที่มีนัยสำคัญมากที่สุดคือบิตสุดท้ายที่อยู่ทางซ้ายมือ ส่วนบิตที่อยู่ทางขวามือคือบิตที่มีนัยสำคัญต่ำ

เมื่อสัญญาณขา PA.1 ขึ้นสู่จุดสูงสุดและกลับลงมา ขา PA.0 จะกลายเป็น Low จากนั้น ขา PA.1 จะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดและกลับลงมาอีกครั้ง คราวนี้ PA.0 จะเป็น High และจะเป็นอย่างนี้สลับกันตามลำดับบิตของตัวแปร Tmp

PA.1 จะสลับขึ้นลงไปมา 8 รอบ โดยแต่ละรอบ PA.0 จะกลายเป็น 0100 0001 ตามลำดับบิต

ฝันร้ายของโอเปค

บ่อน้ำมันเพียงบ่อเดียว..สามารถดูดน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติในแนวขวางได้มากกว่า 10 แหล่ง

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่มิได้คร่ำหวอดในวงการพลังงานอย่างผู้เขียน ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ทำให้เกิดความสนเท่ห์สองประการหลัก

ประการแรก ทำไมการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่สาม (QE3) ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่จุดประกายให้เกิดการอัดฉีดและ/หรือลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และทำให้สภาพคล่องล้นโลกและราคาสินทรัพย์อื่น ๆ ทั่วโลกพุ่งกระฉูด กลับไม่ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เหมือนสองครั้งแรกที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบพุ่งขึ้นถึง 49.4% และ 37.8% ตามลำดับ

ประการที่สอง ทำไมราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ที่ซื้อขายในสหรัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถึงต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์และดูไบ (ซื้อขายที่ตลาดลอนดอน) ที่อยู่ที่ประมาณ 105-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงหลัง (ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ราคาทั้งสามล้อกันมาโดยตลอด)

เมื่อสงสัยจึงศึกษา และคำตอบที่ได้พบว่านั่นเกิดจากในสหรัฐอเมริกาได้นำเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแนวขวาง (Horizontal Drilling and Hydraulic Fracturing) โดยใช้อัดฉีดน้ำปริมาณมากผสมกับทรายและสารเคมีบางอย่างเพื่อทำให้ชั้นหินดินดาน (Shale) แตกออก เพื่อที่จะดูดก๊าซและ/หรือน้ำมัน (Shale Gas/ Shale Oil) ออกมา (ส่วนใหญ่เป็นก๊าซ)

การขุดเจาะดังกล่าวแม้มีต้นทุนที่สูงกว่าการขุดเจาะแบบปกติ (แนวดิ่ง) แต่ก็สามารถขุดเจาะน้ำมันและ/หรือก๊าซธรรมชาติออกมาได้มาก (ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง) เนื่องจากธรรมชาติของแหล่งน้ำมันจะวางตัวในแนวขวางเป็นหลัก ดังนั้นบ่อน้ำมันเพียงบ่อเดียวก็สามารถดูดน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติในแนวขวางได้มากกว่า 10 แหล่งด้วยกัน

คำถามที่ตามมาคือ เทคนิคใหม่นี้จะเป็นความหวังของตลาดพลังงานโลกได้มากน้อยเพียงใด โอกาสที่ประเทศอื่นๆ จะทำตามสหรัฐมีมากน้อยเพียงใด และความเสี่ยงของ Hydraulic Fracturing คืออะไร นอกจากนั้น คำถามสำคัญที่สุดคือ Shale Gas/ Shale Oil จะทำให้ตลาดพลังงานโลก รวมถึงภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปเช่นไร

การจะตอบคำถามดังกล่าวได้ จะต้องเข้าใจโครงสร้างการใช้พลังงานโลกก่อน โดยในปัจจุบัน โลกพึ่งพาพลังงานจากสามแหล่งหลัก ได้แก่ น้ำมัน (ประมาณ 33%) ถ่านหิน (30%) และก๊าซธรรมชาติ (21%) ที่เหลือคือสามแหล่งเสริม ได้แก่ พลังน้ำ นิวเคลียร์ และพลังงานทดแทน (รวมประมาณ 16%)

จากการประมาณการของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าหากการพัฒนาการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ยังคงระดับเดิม จะทำให้โครงสร้างพลังงานโลกเปลี่ยนไป โดยหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเป็น 25% ขณะที่การใช้น้ำมันและถ่านหินจะลดลงมาอยู่ระดับเดียวกัน

เมื่อพิจารณาจากสหรัฐ Hydraulic Fracturing จะทำให้สหรัฐมีความเป็นอิสระเชิงพลังงานในอีก 20 ปี จากปัจจุบันต้องนำเข้ากว่า 50% ของการบริโภคน้ำมันรวม (19 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดยทั้งการผลิต Shale Gas และ Shale Oil จะเพิ่มขึ้นถึง 25% และ 300% ในปี 2020 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น จะทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกแทนที่ซาอุดีอาระเบีย (จนมีการขนานนามว่าสหรัฐว่าจะเป็น “ซาอุดีอเมริกา”)

แต่ในระยะใกล้ สหรัฐก็ยังไม่สามารถดีใจจนเกินเหตุได้ เพราะการผลิต Shale Gas และ Shale Oil เป็นเพียงประมาณ 25% และ 10% ของการผลิตรวมในประเทศเท่านั้น (เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง) แต่เพราะตลาดน้ำมันเป็นตลาดที่ตึงตัวมาก ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน) ก็ทำให้ราคาน้ำมัน WTI ลดลงมาก

แต่การผลิต Shale Gas ที่เพิ่มขึ้นมากก็มีข้อเสีย (ต่อผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ) เพราะทำให้ราคาก๊าซในประเทศลดลงมาก แต่ไม่สามารถส่งออกขายยังประเทศอื่น ๆ ได้มากนัก เนื่องจากธรรมชาติของก๊าซที่เป็นสสารเบา จึงต้องขนส่งในรูปแบบของเหลว (Liquid Natural Gas) ผ่านจุดเยือกแข็งที่ -162 องศาเซลเซียส จึงยากต่อการขนส่งระหว่างประเทศ

นั่นทำให้ราคาก๊าซในสหรัฐลดลงเหลือประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาของก๊าซในเอเชีย (รวมทั้งไทย) ที่ไม่มีการผลิต Shale Gas สูงถึง 15-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีการทำสัญญาระยะยาวที่ผูกติดกับราคาน้ำมัน (ต่างจากสหรัฐที่ขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานของก๊าซ)

ส่วนในกรณีของ Shale Oil นั้น แม้จะทำให้สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น แต่กฎหมายสหรัฐห้ามผู้ผลิตส่งน้ำมันดิบออกขายระหว่างประเทศ (ต้องแปรรูปก่อน) ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบ WTI จึงถูกกว่าราคาน้ำมันดิบอื่นๆ

ถ้าเช่นนั้น ประเทศอื่นๆ จะเลียนแบบสหรัฐในการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing เพื่อให้ได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาถูกได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ในระยะสั้น เพราะแม้ว่าในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกจะมีแหล่ง Shale Gas/Oil ที่มากกว่าสหรัฐ (เช่น จีน ยุโรป และ ละตินอเมริกา ที่มีประมาณ 1-1.5 เท่าของสหรัฐ) แต่การขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ในประเทศเหล่านั้นเผชิญปัจจัยลบสองประการ

ประการแรกคือ ประเด็นด้านความเป็นเจ้าของและการใช้สอยที่ดิน โดยในสหรัฐ แหล่งขุดเจาะส่วนใหญ่จะเป็นไร่นาที่เจ้าของอนุญาตให้ขุดเจาะได้เพราะได้รับผลตอบแทนจากการอนุญาตให้ขุดเจาะ แต่ในประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งชุมชน และ/หรือ ผู้อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเจ้าของ จึงไม่ได้ผลตอบแทนจากการขุดเจาะ

ประการสอง ได้แก่ ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการปนเปื้อนของน้ำบาดาล (เพราะการขุดเจาะแบบ Hydraulic Fracturing ต้องใช้น้ำและสารเคมีเป็นจำนวนมาก) และการพังทลายของชั้นหินทำให้เกิดความกังวลเรื่องแผ่นดินไหวและโอกาสที่ก๊าซจะรั่วไหล (งานวิจัยหลายที่ระบุว่าหากมีการบริหารจัดการดี ก็จะสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ แต่ประชาชนในหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปก็ยังคงกังวลอยู่ดี)

ปัจจัยลบทั้งสองทำให้การผลิต Shale Gas/Oil ยังคงจำกัดอยู่ในสหรัฐอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสหรัฐ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิต/การขนส่งถูกลง ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง ทำให้ดุลการค้า/บัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง รวมถึงทำให้เงินเฟ้อไม่สูงมากและทำให้มีแนวโน้มที่ราคาโภคภัณฑ์อื่นๆ ไม่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อสหรัฐแต่เป็นผลลบประเทศต่อผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันอย่างกลุ่มโอเปค

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าในระยะสั้น ราคาน้ำมันดิบจะไม่สูงขึ้นมาก แม้จะไม่ถูกลงอย่างฮวบฮาบก็ตาม (เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีต้นทุนสูง รวมถึงประเทศอื่นยังไม่ให้การยอมรับเต็มที่) ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติในสหรัฐจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของสหรัฐถูกลง และในระยะยาวการพัฒนาการผลิตแบบ Hydraulic Fracturing จะทำให้มีพลังงานจาก Shale Gas/Oil ใช้ได้อีกนาน

เตรียมใจไว้เลยว่า การเกิดขึ้นของ Hydraulic Fracturing จะเปลี่ยนโลกทัศน์ของตลาดพลังงานโลก รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจการเงินโลกในอนาคต นักธุรกิจ/นักลงทุนและผู้กำกับนโยบาย จะต้องเตรียมตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Shale Gas ทางรอดพลังงานที่โลกยังต้องลุ้น



ชื่อ:  news_img_481176_1.jpg
ครั้ง: 56
ขนาด:  48.0 กิโลไบต์


ไม่กี่ปีมานี้ คำว่า “Shale Gas” กลายเป็นศัพท์ฮิตในอุตสาหกรรมพลังงานโลก ในฐานะทางเลือกใหม่ที่จะมาแทนที่พลังงานในรูปแบบอื่นๆ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ผันผวน และทรัพยากรพลังงานแบบดั้งเดิมที่เริ่มร่อยหรอ

Shale Gas หรือก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน ช่วยให้โลกมีปริมาณก๊าซสำรองเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถูกกักอยู่ในหินดินดาน ทำให้กระบวนการขุดเจาะที่ซับซ้อนมากกว่าก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิม ขณะที่สหรัฐค้นพบเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing หรือการขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูง ผสมสารเคมีและทรายเพื่อให้หินแตกร้าว ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำลงเมื่อเทียบกับการขุดเจาะในแหล่งพลังงานดั้งเดิม

นี่ทำให้บริษัทพลังงานหลายแห่งพยายามจะเดินตามรอยความสำเร็จของสหรัฐ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายดาย เพราะปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้สหรัฐยังคงมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันค่อนข้างมาก

ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากหินดินดานที่เพิ่งค้นพบใหม่ ช่วยปลุกอุตสาหกรรมพลังงานในอเมริกาเหนือ และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมจากราคาพลังงานที่ต่ำลง ขณะเดียวกัน ก็พบข้อมูลว่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานขนาดใหญ่อยู่นอกอเมริกาเหนือ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนกระตือรือร้นที่จะร่วมกระแสนี้

แต่ดูเหมือนบริษัทน้ำมันหลายรายกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากการเดินตามรอยความสำเร็จของสหรัฐในแหล่งก๊าซบนทวีปอื่นๆ โดยเหตุผลที่ทำให้ยังไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของสิทธิแหล่งแร่ รวมถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และขาดโครงสร้างพื้นฐานในการขุดเจาะและขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะขาดข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับแหล่งพลังงานในประเทศต่างๆ ผิดกับสหรัฐที่กิจกรรมด้านขุดเจาะพลังงานดำเนินมายาวนานกว่าศตวรรษ

หมายความว่า จนถึงขณะนี้ สหรัฐและแคนาดายังคงเป็นประเทศหลักที่เก็บเกี่ยวความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจ จากการพัฒนาเรื่องก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานที่ล้ำหน้าประเทศอื่นๆ และการที่ทั้ง 2 ประเทศมีก๊าซธรรมชาติและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอย่างล้นเหลือ มีส่วนดึงดูดให้บริษัทปิโตรเคมีและผู้ผลิตปุ๋ยเข้ามาสร้างโรงงานใหม่ แทนที่จะยกขบวนออกไปตั้งฐานผลิตนอกบ้านอย่างที่ทำมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะรัฐเท็กซัสและนอร์ทดาโกต้าที่ได้อานิสงส์จากแหล่งพลังงานจากหินดินดาน ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้นจากกิจกรรมการขุดเจาะแบบใหม่

ขณะที่โปแลนด์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญในตลาดนี้ กลับต้องผิดหวัง เมื่อพบปริมาณก๊าซไม่มากอย่างที่คาดไว้ บวกับความกังวลของชุมชนเกี่ยวกับการขุดเจาะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎเรื่องภาษีและค่าธรรมเนียม ส่งผลให้ “เอ็กซอน โมบิล คอร์ป” ตัดสินใจโยนผ้าขาวยอมแพ้ในโปแลนด์ หลังจากขุดเจาะก๊าซแค่ 2 หลุม โดยบริษัทให้เหตุผลว่า ไม่พบน้ำมันหรือก๊าซมากพอที่จะเดินหน้าขุดเจาะเพิ่มเติม

จีน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คาดกันว่าน่าจะมีน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดานมหาศาล มากกว่าในสหรัฐเสียอีก แต่ปัญหาอยู่ที่แหล่งก๊าซจากหินดินดานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง หรือไม่ก็มีประชากรหนาแน่น นอกจากนี้ บริษัทน้ำมันยังกังวลว่าอาจไม่มีปริมาณน้ำมากพอที่จะใช้แรงดันน้ำทำให้หินแตกออก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้สารไฮโดรคาร์บอนออกมาจากชั้นหิน

ไซมอน เฮนรี ผู้อำนวยการบริหารของโรยัล ดัตช์ เชลล์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกว่า การจะสร้างแท่นขุดเจาะก๊าซจากหินดินดาน อาจต้องขออนุญาตขุดเจาะพื้นที่บางส่วนของภูเขา หรือไม่ก็บนนาข้าวของใครสักคน

เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา ที่เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งยึดคืนบริษัทของสเปนเป็นของรัฐ ก็ค้นพบแหล่งพลังงานจากหินดินดานขนาดใหญ่ที่น่าจะมีน้ำมันเกือบ 1 พันล้านบาร์เรล แต่กฎระเบียบที่เข้มงวดทำให้นำเข้าเทคโนโลยีที่จำเป็นได้ยาก เช่นเดียวกับการส่งกำไรกลับบ้าน “อาปาเช่ คอร์ป” ที่ได้สิทธิขุดเจาะแหล่งพลังงานจากหินดินดานราว 450,000 เอเคอร์ ระบุว่า อาจจะมีต้นทุนในการขุดเจาะสูงกว่าที่สหรัฐราว 2 เท่า และอาจต้องใช้ต้นทุนในการทำให้หินแตกเพื่อเริ่มการผลิตสูงกว่าราวๆ 2-4 เท่า

ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส บัลแกเรีย ต่างก็ห้ามใช้เทคโนโลยีขุดเจาะด้วยแรงดันน้ำ เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงพับแผนพัฒนาเรื่องนี้เอาไว้ก่อน

“โจเซฟ สแตนิสลอว์” ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพลังงานของดีลอยต์ มองว่า ยังมีโอกาสในการพัฒนาพลังงานจากหินดินดานอีกมาก เมื่ออุตสาหกรรมนี้ก้าวสู่ความจริง และเริ่มต้นจริงจัง พลังงานจากหินดินดานก็จะทะยานขึ้นเหมือนในสหรัฐ แต่ระยะเวลาอาจจะยาวนานกว่าที่หลายคนคาดคิด

เพราะความสำเร็จของสหรัฐเกิดขึ้นจากปัจจัยที่แตกต่าง เทคโนโลยีการขุดเจาะด้วยน้ำแรงดันสูงบุกเบิกโดยบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการเสี่ยง รวมทั้งได้แรงหนุนจากเจ้าของที่ดินที่ถือสิทธิครอบครองแหล่งแร่ และพร้อมจะแลกกับผลกำไร ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐมีเครือข่ายท่อก๊าซและแท่นขุดเจาะจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ดังนั้น การผลิตก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานจึงเป็นโมเดลเฉพาะของสหรัฐ

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในบทเรียนความสำเร็จของสหรัฐ แต่มักถูกมองข้าม คือ การพัฒนาพลังงานจากหินดินดานส่วนใหญ่เป็นก๊าซจากใต้พื้นดิน จึงก่อความกังวลเกี่ยวกับการขุดเจาะในพื้นที่ของเจ้าของที่ดินที่ต้องการผลกำไร แตกต่างกับในประเทศอื่นๆ ที่สิทธิแหล่งแร่เป็นของรัฐ จึงไม่ค่อยจูงใจการขุดเจาะเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ความแตกต่างอีกประการ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งพลังงานจากหินดินดานที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ขุดเจาะแหล่งพลังงานนับหมื่นแห่ง และมีข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ แม้ว่านักธรณีวิทยาอาจจะพอรู้ว่าแหล่งพลังงานจากหินดินดานในประเทศต่างๆ อยู่ที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าสภาพหินแบบไหนที่เหมาะต่อการใช้เทคโนโลยีขุดเจาะด้วยน้ำแรงดันสูง

แต่การลงทุนก็อาจคุ้มค่ากับการเสี่ยง เพราะผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานน่าจะมีอยู่มหาศาล โดยผลการศึกษาของรัฐบาลสหรัฐในปีที่แล้ว ประเมินว่า แหล่งพลังงานจากหินดินดานน่าจะมีอยู่ใน 32 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นปริมาณมากถึง 6.6 พันล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นปริมาณการบริโภคทั้งโลกในขณะนี้ ได้ยาวนานกว่า 50 ปี ขณะที่สหรัฐครอบครอง 862 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือ 13% ของที่ประเมินทั้งหมด

เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้ปริมาณที่มากเพียงพอ ซึ่งทั้งเชฟรอนและบริษัทอื่นๆ ต่างหวังว่าจะสร้างอุตสาหกรรมการกลั่นก๊าซจากหินดินดานในโปแลนด์ได้สำเร็จ และพบก๊าซมากพอที่จะทำให้คุ้มค่ากับต้นทุนการขุดเจาะ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังเผชิญกับแรงต้านจากประชาชน ส่งผลให้กระบวนการออกใบอนุญาตขุดเจาะล่าช้า

“พิออตร์ วอสเนียก” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ของโปแลนด์ บอกว่า กฎหมายพลังงานฉบับใหม่จะจัดสรรเงินชดเชยให้รัฐบาลท้องถิ่นที่มีการดำเนินการขุดเจาะพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านจากคนในท้องถิ่นได้

ขณะที่ “พิออตร์ แดมป์” ชาวบ้านที่เพิ่งขายที่ดิน เล่าว่า ถูกบริษัทกดดันให้ต้องขายที่ไป เพราะก๊าซที่อยู่ใต้ดินเป็นของรัฐ และอาจต้องเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อตั้งแท่นขุดเจาะ แต่หากไม่ยอมขาย กระบวนการก็อาจยาวนานออกไปอีก


ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ