สามัญสำนึก
โดย สกุณาประยูรศุข
ก่อนหน้านี้สักปีสองปี จำได้ว่าระหว่างสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคารพนับถือกันเสมือนครูอาจารย์ คำพูดหนึ่งของท่านนั้นบอกว่า
"จงทำในสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีคนทำ แต่สิ่งที่ง่ายนั้นใคร ๆ ก็แย่งกันทำ"
ตอนนั้นไม่ใคร่ใส่ใจอะไรมากนัก เพราะเห็นว่าคนเราย่อมมีความเห็นที่แตกต่าง และแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองพึงพอใจ แต่เมื่อนานวันเข้ากลับเห็นว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นชี้แนะ คือขุมทรัพย์อันประเสริฐ
สิ่งที่ท่านกล่าวมันเป็น "ของจริง" และ "รู้" กันเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ไม่เคยใคร่ครวญและ "ยอมรับ" โดยมากจะปล่อยผ่านเลยไป รวมทั้งตัวเองเมื่อครั้งโน้นด้วย
กระทั่งวันหนึ่ง มีน้องนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาฝึกงานกับกองบรรณาธิการ ได้เวลาฝึกเสร็จมาสวัสดี ลากลับ เลยมีโอกาสถามน้องคนนั้นว่า คิดจะเป็น "นักข่าว" หรือไม่ ? หลังจากมาฝึกงาน
น้องผู้หญิงยิ้มพยักหน้าบอกว่า "หนูชอบค่ะ"
เธอตอบไม่ตรงคำถาม เลยต้องถามย้ำกลับไปว่า
"ชอบเป็นนักข่าว ?" คราวนี้น้องต้องพยักหน้าซ้ำบอกว่า "ค่ะ"
ถามกลับไปอีกว่า "ทำไม เป็นนักข่าวแล้วได้อะไร ?" น้องผู้หญิงคนเดิมบอกเล่าได้ความรู้ ความสนุกสนานแบบไม่ซ้ำซาก จำเจ สนุกที่ได้พบปะเจอะเจอผู้คนไม่ซ้ำหน้า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และอื่น ๆ อีกหลายอย่างแต่พอถามว่า แล้วอยากเป็นนักข่าวสายไหน คราวนี้น้องนิ่ง ไม่ตอบคำถาม
ใจเธอคงกำลังเรียบเรียงความคิด ว่าจะตอบอย่างไรดี เพราะจากข้อเท็จจริงแล้ว เธอเองก็ยังไม่รู้ความแตกต่างของสายงานข่าวแต่ละสายว่ามันเป็นอย่างไร เพราะการฝึกงานของเธอนั้น ฝึกอยู่เพียงสายเดียว ยังไม่ได้โยกย้ายหรือไปทำความรู้จักกับสายงานสายอื่น ๆ
ให้เวลาเธอคิด แต่เธอก็ยังเงียบ ในที่สุดเลยต้องบอกกลับไปว่า อยากทำงานนักข่าวน่ะดีแล้ว เพราะเรียนมาทางด้านนี้ การได้ทำงานตรงกับสิ่งที่เรียนมา น้อยคนที่จะ "ได้ทำ"
"แต่ขอไว้อย่างหนึ่งว่า-ไม่ว่างานอะไรก็ตาม หากจะต้องทำ ขอให้หัดทำในสิ่งที่ยาก อย่าทำในสิ่งที่ง่าย"
แววตาฉงนปรากฏบนใบหน้าของเธอทันที เลยต้องอธิบายกันต่อว่า ความหมายของคำพูดที่พูดให้ฟัง ไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากบอกให้เธอได้รู้เพิ่มเติมอีก ว่า นอกเหนือจากความรู้ที่ร่ำเรียนมา ไม่ว่าจากตำราในห้องเรียน หรือที่มาฝึกงาน มันยังไม่เพียงพอที่จะนำพาชีวิตในปัจจุบันไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างที่คิดฝัน
มันยังต้องมี "ความขยัน อดทน อดกลั้น ความมุ่งมั่น" ที่จะเอาชนะอุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาเป็นบททดสอบ และสร้างความแข็งแกร่งให้ชีวิต
ถ้ารักสบาย เลือกทำแต่สิ่งที่ง่าย ๆ ก็ไม่ได้ฝึกฝนความคิด ไม่ได้ฝึกฝนการแก้ปัญหา ในระยะยาวก็จะมีแต่ความอ่อนด้อย อ่อนแอ สุดท้ายก็อยู่ไปวัน ๆ ไม่รู้สึกถึงคุณค่าตัวเอง
การที่บอกกับน้องฝึกงานเช่นนี้ เพราะทุกครั้งหรือเกือบจะทุกครั้งที่รับสมัครนักข่าวใหม่เข้าทำงาน เมื่อถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ คำถามเบสิกว่า อยากทำงานสายไหน ร้อยทั้งร้อยตอบว่า อยากเป็นนักข่าวสารคดีท่องเที่ยว อยากเขียนเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ หรือข่าวบันเทิง
ขอทำงานแบบชิล ชิล ชอบชีวิตชิล ชิล
น้อยมากหรือแทบไม่มีเลยที่จะบอกว่า อยากทำสายการเงิน การคลัง เศรษฐกิจมหภาค ฯลฯ
เหตุผลของคนเหล่านั้น คือข่าวเศรษฐกิจยากเกินไป ทำแล้วเครียด ปวดหัว ไม่เข้าใจ มีแต่ตัวเลข
ที่สำคัญงานยากแล้วยังได้เงินน้อย
ฟังแล้วก็ต้องอึ้ง กับความคิดของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ส่วนมากที่เขาคิดกัน
เงินสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต และชีวิตก็ไม่ควรจะอยู่ไปวัน ๆ
หัดทำสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีคนทำ แต่สิ่งที่ง่ายนั้น ใคร ๆ
ก็แย่งกันทำ !
วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)